การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กอนช. เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ภาคกลาง ณ จ.ชัยนาท รับมือการระบายน้ำเหนือและฝนที่จะตกเพิ่มไม่ให้กระทบประชาชน


กอนช. เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท บริหารจัดการมวลน้ำจากการระบายน้ำเหนือและฝนตกหนัก พร้อมหารือคณะทำงานฯ พิจารณาเกณฑ์การรับน้ำ เข้าพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่างและแนวทางการผันน้ำ และเกณฑ์บริหารจัดการประตูระบายน้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตก-ออก ให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด


 
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลางและเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคกลาง ครั้งที่ 1/2565 พร้อมด้วยนายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรุมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำ GISTDA การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคกลาง เป็นต้น เข้าร่วม ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
 

 
ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า กอนช. โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้ติดตามคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า พบว่า ในช่วงวันที่ 17 - 21 ก.ย. 65 ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ จากอิทธิพลของร่องมรสุมซึ่งจะมีกำลังแรงขึ้นและเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทั้งนี้ จากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่า (Side Flow) ไหลเข้าสู่แหล่งกักเก็บน้ำ แม่น้ำและคลองต่างๆ ทำให้ระดับน้ำในแหล่งน้ำหลายแห่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาทิ เขื่อนกิ่วลม-กิ่วคอหมา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 100% ของความจุ เขื่อนทับเสลา มีปริมาณน้ำคิดเป็น 68% ของความจุ ซึ่งเกินเกณฑ์ควบคุม เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลเข้าเพิ่มอีก 240 ล้าน ลบ.ม. รวมไปถึงแม่น้ำวัง แม่น้ำยม ที่มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น
 

 
“จากปริมาณน้ำที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ตอนบน ส่งผลให้ต้องมีการเร่งระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้ปัจจุบันมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากขึ้นและปริมาณน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยายกระดับตัวขึ้น เริ่มส่งผลกระทบกับพื้นที่เหนือเขื่อน คือ บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำของ จ.ชัยนาท กรมชลประทานจึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาแบบขั้นบันไดในอัตรา 1,800-2,000 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งอาจกระทบต่อบริเวณ จ.อ่างทอง สิงห์บุรีและอยุธยา ตามที่ กอนช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือนไปก่อนหน้านี้ ประกอบกับปัจจุบันเป็นช่วงฤดูฝนของภาคกลาง ซึ่งร่องความกดอากาศต่ำจะ พาดผ่านภาคกลางตอนบน ก่อนเลื่อนลงไปสู่ภาคกลางตอนล่าง จนถึงวันที่ 15 ต.ค. 65 ส่งผลให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกรุงเทพมหานครในขณะนี้ที่ยังมีฝนตกในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเหนือบางส่วน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. จึงเห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือในการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และอำนวยการการปฏิบัติงาน บริหารจัดการมวลน้ำ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย” ดร.สุรสีห์ กล่าว

 
ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันเดียวกันนี้ ได้มีการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง เพื่อติดตามพื้นที่ประสบอุทกภัยในขณะนี้และการให้ความช่วยเหลือประชาชน และพิจารณา แนวทางการปฏิบัติงานภายใต้ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ พร้อมพิจารณาเกณฑ์การรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและขั้นตอนแนวทางการผันน้ำ และเกณฑ์บริหารจัดการประตูระบายน้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตก-ออก ให้สามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้โดยส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุดด้วย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ก.ย. 2565 เวลา : 00:05:07
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 3:55 pm