การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
เด็กไทยเจ๋ง! กวาดแชมป์แข่งหุ่นยนต์ยุวชนนานาชาติ IYMRC 2022


 
บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะเป็นสมาชิกสมาคม IYRA (สมาคมหุ่นยนต์ยุวชนนานาชาติ International Youth Robot Association) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน สำหรับปีนี้บริษัทฯ ยังคงดำเนินงานสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบ “STEM Education” และ “Coding” ในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 โดยเป็นผู้จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ IYMRC THAILAND 2022 เชิญชวนเยาวชนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา-อุดมศึกษา เข้าร่วมสมัครส่งผลงาน เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ยุวชนนานาชาติ “IYMRC หรือ International Youth Metaverse Robot Challenge 2022” ในรูปแบบ Online ที่ให้น้องๆออกแบบไอเดีย หุ่นยนต์ให้อยู่ในแพลตฟอร์ม METAVERSE โลกเสมือนจริง 
 
 
 
ความพิเศษในปีนี้ เปิดรับสมัครผลงาน 2 ประเภท คือ Robot Creation ออกแบบสร้างหุ่นยนต์ตามความคิดสร้างสรรค์ และ ประเภท Robot Design ออกแบบวาดรูปโลกของหุ่นยนต์ตามจินตนาการ ซึ่งกระแสตอบรับดีเกินคาด มีเยาวชนทีมชาติไทยร่วมส่งคลิปและผลงานภาพวาดกันอย่างคึกคัก แต่ละทีมโชว์ผลงานหุ่นยนต์ด้วยไอเดียที่สร้างสรรค์ แปลกใหม่ ทางบริษัทฯ จึงจัดส่งวิดีโอและไฟล์ภาพผลงานผู้แข่งขัน ไปให้คณะกรรมการตัดสินระหว่างวันที่ วันที่ 5-7 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ เมืองแทจอน ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ที่ผ่านมา
 
 
สำหรับบรรยากาศงานมอบรางวัล “การแข่งขันหุ่นยนต์ยุวชนนานาชาติ IYMRC 2022” ณ ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2565 ผลการแข่งขันในปีนี้เยาวชนทีมชาติไทย ทั้งรุ่น Junior ระดับประถมศึกษา อายุ 8-12 ปี,รุ่นSenior ระดับมัธยมศึกษา อายุ 13-18 ปี และรุ่น Senior ระดับอาชีวศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 56 ทีม คว้ารางวัลสูงสุด ได้แก่ Gold Prize ,Silver Prize, Bronze Prize ได้ทั้ง 2 ประเภท คือ Robot Creation และ Robot Design จากผู้ส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขันทั่วโลกกว่า 30 ประเทศ จำนวน 300 ทีม นับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศ โรงเรียน และผู้ปกครองเป็นอย่างยิ่ง
 
 
ซึ่งภายในงานยังได้รับเกียรติจากนายรุ่งกาล ไพสิฐพานิชตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารซีเอ็ดและดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา และดร.บุษราคัม ศรีจันทร์  ศึกษานิเทศก์สำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร เข้าร่วมเป็นสักขีพยานการมอบรางวัลในครั้งนี้

 
นายรุ่งกาล ไพสิฐพานิชตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เป้าหมายของซีเอ็ด ต้องการสนับสนุนการศึกษาและองค์ความรู้ หรือทักษะต่างๆที่จะพัฒนา ผ่านกิจกรรม “IYMRC” มุ่งเน้นสร้างรากฐานความรู้เฉพาะทางให้เป็นระบบ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงอาชีวศึกษา เน้นองค์ความรู้ในเชิงเทคนิคของเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานกับการวางแผน คิด วิเคราะห์ เพื่อตอบโจทย์ การแข่งขันสร้างหุ่นยนต์ตอบสนองความต้องการตามจินตนาการ หรือแก้ปัญหาบางอย่างในการดำเนินชีวิต ให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งความพิเศษของปีนี้ เจ้าของผลงานประเภท Robot Design จะได้รับการจดสิทธิบัตรดิจิตอล (NFT) โดยบริษัทของประเทศเกาหลีใต้ด้วย นับเป็นเรื่องที่ดี ที่ทำให้เด็กและเยาวชนรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อสามารถเป็นเจ้าขององค์ความรู้ได้ ขณะเดียวกันการแข่งขันครั้งนี้จะเริ่มไม่ได้ หากขาดแรงสนับสนุนที่สำคัญจากครอบครัว ครูและโรงเรียน ทั้งการเป็นที่ปรึกษา แนะนำองค์ความรู้ เพื่อให้เด็กได้ใช้ทักษะสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ รวมทั้งหนุนงบประมาณทำให้ผลงานเกิดขึ้นได้จริง”
 
“โครงการนี่เป็นกระบวนการเรียนรู้ในเชิงของเทคนิคและต่อยอดไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์สิ่งใหม่ของโลก แม้จะเป็นกิจกรรมในเชิงเทคนิควิทยาศาสตร์ แต่เชื่อมั่นว่าองค์ความรู้เหล่านี้จะตอบโจทย์ทักษะของเด็กอย่างรอบด้าน ทางซีเอ็ด ต้องขอขอบคุณครอบครัว และบุคลากรทางการศึกษาทุกท่านที่ช่วยสนับสนุน ให้เด็กไทยเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันในปีนี้ นับเป็นความร่วมมือในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็กๆให้ดียิ่งขึ้น”
 
สำหรับผลงานการแข่งขันที่ตัวแทนทีมชาติไทยคว้ารางวัลมาครอบครอง แบ่งเป็นประเภท Robot Creation จำนวน 26 ทีม และประเภท Robot Design จำนวน 30 ทีม                                         
หลักเกณฑ์การตัดสินจะพิจารณา ผ่านคลิปและผลงานภาพวาด ที่ส่งเข้าประกวด ด้วยองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ความเป็นเอกลักษณ์, กระบวนการทำงานของหุ่นยนต์, ทักษะการทำเสนอและการทำงานเป็นทีม 
 

 
(ทีม Nicasio จากโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ กรุงเทพฯ)

หนึ่งในทีมที่ชนะเลิศการแข่งขัน IYMRC 2022  รางวัลเหรียญทอง (Gold Prize)ประเภท Robot Creation รุ่นซีเนียร์ ระดับมัธยมศึกษา ได้แก่ ทีม Nicasio ชื่อผลงาน Smart Go Board จากโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ กรุงเทพฯ โดย นางสาวอชิรญา เปี่ยมวิทย์ ตัวแทนของทีม เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นไอเดียของผลงานชิ้นนี้ เกิดขึ้นจากการศึกษาข้อมูลกีฬายอดนิยมของคนในประเทศเกาหลีใต้ ที่ชื่นชอบกีฬาหมากล้อมกันมาก ประกอบกับเจ้าภาพการจัดการแข่งขัน IYMRC 2022 เป็นประเทศเกาหลีใต้ ทีม Nicasio จึงรวมกันสังเกตเห็นว่า การเล่นหมากล้อมแต่ละครั้ง จะติดปัญหา ที่การเก็บและคัดแยกเม็ดหมากล้อมหลังเล่นเสร็จทุกครั้ง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทีมระดมสมองสร้างสรรค์หุ่นยนต์ชิ้นนี้ออกมา
 
 

 
(ผลงาน Smart Go Board จากโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ กรุงเทพฯ)

“ผลงานของทีมเราจะนำไปต่อยอดในอนาคตได้ค่ะ ความพิเศษของหุ่นยนต์ตัวนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้เล่นหมากล้อมทั่วโลก และสามารถนำไปใช้ในการแข่งขันหมากล้อมระดับโลกได้ ซึ่งการแข่งขันIYMRC2022 ครั้งนี้ เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเราได้ทำในสิ่งที่เราสนใจและชอบอยู่แล้ว ได้ทั้งความรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์,การทำงานเป็นทีม,การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการประกอบหุ่นยนต์ขึ้นมา รวมถึงการพัฒนาทักษะอย่างรอบด้าน สู่การต่อยอดผลงานชิ้นอื่นๆให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้อีก”

 
(เด็กชายภูฟ้า สัจจวโรดม  โรงเรียนเพลินพัฒนา)
 
อีกหนึ่งทีมที่ชนะเลิศการแข่งขัน IYMRC 2022 รางวัลเหรียญทอง (Gold Prize)ประเภท Robot Creation รุ่นซีเนียร์ ระดับมัธยมศึกษา ด้วยเช่นกัน โดย เด็กชายภูฟ้า สัจจวโรดม โรงเรียนเพลินพัฒนา เจ้าของผลงาน Robot assistant  ได้เปิดเผยว่า “แนวความคิดหลักของหุ่นยนต์ตัวนี้คือ ให้เป็นผู้ช่วยการทำงานในบ้าน ด้วยหลักการสั่งงานด้วยเสียงเปลี่ยนบ้านให้เป็น smart home คล้ายหลักการทำงานสั่งด้วยเสียงของระบบ SIRI  โดยใช้ Google assistance สามารถสั่งเปิด-ปิดประตูบ้าน ระบบไฟฟ้า พัดลม ไมโครเวฟได้จากเสียงที่อัดไว้

 
(ผลงาน Robot assistant  เด็กชายภูฟ้า สัจจวโรดม โรงเรียนเพลินพัฒนา)
 
ซึ่งครั้งนี้หุ่นยนต์ผู้ช่วยของน้องภูฟ้าและยังมีกลไกเล็กๆสามารถอัดเสียงลงเทปคลาสเซ็ทรุ่นเก่า ใช้พัดลมรุ่นเก่า จนไปถึงจอคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบสั่งการ Window 98 เป็นการเก็บกลิ่นไอบรรยากาศยุค 90’s มาผสานรวมกับนวัตกรรรมยุคใหม่ เพื่อสะท้อนให้เห็นความกลมกลืนของโลกใหม่และโลกเก่าที่ผสมผสานกันเป็นโลกเมตาเวิร์สในปัจจุบัน “


 
(ทีมE-TECH MC2 วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค)

ส่วนรางวัลการแข่งขัน IYMRC 2022 ประเภท Robot Creation รุ่นซีเนียร์ ระดับอาชีวศึกษา มีทีมคว้ารางวัลสูงสุด รองชนะเลิศอันดับ1 เช่น ทีมE-TECH MC2 ผลงาน MEDBOT วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) นาย วรภณ พันธมิตร ตัวแทนทีม กล่าวว่า แนวคิดการสร้างสรรค์หุ่นยนต์ตัวนี้ ทำขึ้นมาเพื่อต้องกาะลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และ ลดความเสี่ยงต่อแพทย์ ไม่ต้องเสี่ยงสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง พิเศษด้วยฟังก์ชั่นเคลื่อนไหวด้วยคำสั่งรีโมท เช่น การส่งน้ำ ส่งยา ให้กับผู้ป่วยถึงเตียง และยังมีติดตั้งกล้องCCTV ใต้หุ่นยนต์ เพื่อให้แพทย์สามารถติดต่อทางไกลกับผู้ป่วยได้ เมื่อผู้ป่วยต้องการคำปรึกษา ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง 

 
(หุ่นยนต์ MEDBOT ทีมE-TECH MC2 วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค)
 
“สำหรับหุ่นยนต์ตัวนี้ทีมของเราตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อ ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ในการลดความเสี่ยง ปฏิบัติงานช่วงสถานการณ์โควิด 19 ครับ นับว่าการแข่งขันครั้งนี้ทำให้ทีมของผมได้ประสบการณ์และเรียนรู้ทักษะต่างๆ ทั้งความรอบคอบในการทำงาน รวมถึงได้พัฒนาทักษะการวางแผน ทักษะความคิดสร้างสรรค์ และได้มองภาพรวมในการทำงานอย่างรอบด้านมากขึ้น จึงขอเชิญชวนนักศึกษาอาชีวะทั่วประเทศมาร่วมแสดงศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน และแสดงไอเดียในการพัฒนาหุ่นยนต์ด้วยตัวคุณเองในการแข่งขันครั้งต่อไปครับ”
    
สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/SBC.fans
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ก.ย. 2565 เวลา : 22:13:32
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 12:29 pm