แบงก์-นอนแบงก์
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิ 9 เดือน 2565 จำนวน 2,811.5 ล้านบาท เติบโต 64.6%


• กำไรสุทธิ 2,811.5 ล้านบาท ( +64.6 % YoY หรือ 1,103.3 ล้านบาท)

• ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 231.8 ล้านบาท (-3.9% YoY) จากการบริหารจัดการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น  
• ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 45.5% จากการลดลงของการด้อยค่า
ของสินทรัพย์
 
 
นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 2,811.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,103.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 64.6 เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2564 สาเหตุหลักเกิดจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 3.9 และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงร้อยละ 45.5 เป็นผลจากการลดลงของการด้อยค่าของสินทรัพย์ ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 0.4%
 
 
 
รายได้จากการดำเนินงาน สำหรับงวดเก้าเดือนปี 2565  มีจำนวน 10,709.4 ล้านบาท ลดลงจำนวน 38.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.4 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2564 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 485.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจเช่าซื้อและเงินให้สินเชื่อสุทธิกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 172.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.7 ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าขายประกันและหน่วยลงทุน รายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 275.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.5 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนและรายได้อื่น  สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของขาดทุนจากเงินลงทุน
 
 
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดเก้าเดือนปี 2565 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2564 ลดลงจำนวน 231.8 ล้านบาทหรือร้อยละ 3.9 เนื่องจากการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น    ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดเก้าเดือนปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 53.2 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 55.2 อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดเก้าเดือนปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจเช่าซื้อและเงินให้สินเชื่อ
 
วันที่ 30 กันยายน 2565 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 224.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 279.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 จากสิ้นปี 2564 ซึ่งมีจำนวน 239.5 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็นร้อยละ 80.2 จากร้อยละ 88.5ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564

สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 3.7  สาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2565 การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้
 
อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 113.6  เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 117.5  ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8.1 พันล้านบาท เป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 กันยายน 2565 มีจำนวน 56.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 20.5 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 15.0
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ต.ค. 2565 เวลา : 10:52:22
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 9:34 pm