การค้า-อุตสาหกรรม
กพร. จับมือ เอ็มเทค สวทช. โชว์ผลสำเร็จการต่อยอดธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Design Solution in Practice) เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย สร้างสังคมคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืน


กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดผลสำเร็จของการประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการออกแบบของสถานประกอบการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission หรือ Net Zero Carbon) ในงานสัมมนาหัวข้อ “ต่อยอดธุรกิจด้วยการออกแบบตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” (CE Design Solution in Practice)”

 
 
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า การจัดสัมมนาในหัวข้อในวันนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้ “โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circular Economy) เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน” โดยได้รับการสนับสนุนจาก กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม  ซึ่งที่ผ่านมามีการถ่ายทอดองค์ความรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ผ่านการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้หลักสูตรเข้มข้น “ติดอาวุธอุตสาหกรรมไทย ด้วยการออกแบบตามหลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” และการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การเลือกใช้วัตถุดิบ ไปจนถึงการจัดการเมื่อสิ้นอายุการใช้งานหรือไม่ใช้แล้ว ให้แก่สถานประกอบการที่ได้รับการคัดเลือก นอกจากการให้คำปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงแล้ว เอ็มเทค ยังได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ของกลุ่มวิจัย ผนวกกับการใช้กลไกเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการของเอ็มเทคที่มีอยู่ทั้งในและต่างประเทศพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการต้นแบบ CE Design Solution เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ประกอบการอื่นๆ ต่อไป
 
 
 
ดร.ธีรวุธ ตันนุกิจ ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กพร. กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) ทำให้ผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตส่วนใหญ่ถูกออกแบบโดยไม่ได้คำนึงถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำ การรีไซเคิล หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle) ของผลิตภัณฑ์ แต่เน้นให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ระยะสั้น เช่น ต้นทุนการผลิต และยอดขาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบในลักษณะที่ทำให้อายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์สั้นกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงการจูงใจให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่กว่า ส่งผลให้ปริมาณขยะหรือของเสียทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีความพยายามในการนำวัตถุดิบที่มีค่ากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่โดยการรีไซเคิล แต่เมื่อพิจารณาจากลำดับขั้นในการจัดการของเสีย (Waste Management Hierarchy) การรีไซเคิลถือเป็นขั้นปลายทางในการจัดการของเสียที่ต้องใช้พลังงานและต้นทุนเป็นอย่างมาก โดยความยาก-ง่ายของกระบวนการรีไซเคิลจะขึ้นกับการออกแบบว่าได้คำนึงถึงการนำผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุการใช้งานหรือของเสียที่เกิดขึ้นกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่หรือไม่ ดังนั้นการคิดใหม่/การออกแบบใหม่ (Rethink/Redesign) จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อก่อให้เกิดรูปแบบการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
 
 
 
กพร.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ ทั้งวัตถุดิบจากแหล่งแร่ธรรมชาติ (Primary Raw Materials) วัตถุดิบทดแทนที่ได้จากการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย (Secondary Raw Materials) จึงได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น โดยได้มอบหมายเอ็มเทค เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการ เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ไทยบรรลุเป้าหมายทิศทางการพัฒนาประเทศเพื่อให้ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเป้าหมายของไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission หรือ Net Zero Carbon) ภายในปี ค.ศ.2065 ต่อไป
 
ดร.ธีรวุธ กล่าวต่อว่า เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 6 ราย โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาทต่อปี และหากมีการนำต้นแบบที่ได้พัฒนาตามแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ จะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ไม่ต่ำกว่า 6,000 ตันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (เทียบเท่า) ต่อปี ทั้งนี้ยังไม่นับรวมมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนี้ โครงการยังก่อให้เกิดตัวอย่างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อให้เกิดผลสำเร็จร่วมกัน สร้างสังคมคาร์บอนต่ำโดยใช้หลักการออกแบบที่มีการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนได้อีกด้วย
 
 
ดร.นุจรินทร์ รามัญกุล ผู้เชี่ยวชาญวิจัย เอ็มเทค หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้สำเร็จลุล่วงได้ ด้วยการร่วมแรงร่วมใจ ของผู้ประกอบการนำร่องทั้ง 6 ราย ได้แก่ บจก.อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ บจก.สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง1958) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ บจก.ซิกเวอร์ค (ประเทศไทย) บจก.บี เอช พลาสติก และ TPE บริษัทในเครือ เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน)
 
“การประยุกต์ใช้แนวคิด CE ในการออกแบบในช่วงต้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก เพราะเรายังติดกับดัก  Linear Economy อยู่ ทำให้จำกัดการคิดการพัฒนาอยู่แต่ในกรอบรั้วโรงงาน และไม่ได้ติดตามจะคงคุณค่าหรือหมุนเวียนทรัพยากรที่ส่งออกจากโรงงานให้อยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ได้นานที่สุดได้อย่างไร โดยปล่อยให้กลายเป็นปัญหากับคนรุ่นต่อไปที่ต้องมาแก้ไข แต่เมื่อผู้ประกอบการนำร่องทั้ง 6 รายได้นำหลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ ได้ใช้การคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) โดยคำนึงการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรในโซ่อุปทานแล้วจะเริ่มเห็นชัดว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนจะดำเนินการองค์กรเดียวไม่ได้ แต่ต้องร่วมมือกันเป็นเครือข่ายคุณค่าหรือ Value network เมื่อทุกฝ่ายยอมถอยจากจุดยืนของตนเองกันคนละก้าว แล้วมาเดินบนเส้นทางใหม่พร้อมกัน ทำให้เห็นแนวทางชัดเจนขึ้น ซึ่งจากโครงการนี้ ด้วยความร่วมมือกันทำให้ Solution ที่ออกแบบไว้ประสบความสำเร็จได้เร็วและไกลกว่าที่คาดกันไว้ตั้งแต่ต้น”

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 พ.ย. 2565 เวลา : 07:38:28
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 7:45 pm