การค้า-อุตสาหกรรม
'ไทย-ภูฏาน' จับเข่าคุยความเป็นไปได้ในการจัดทำ PTA หวังดันมูลค่าการค้าทะลุ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งเป้าภายในปี 2568


ไทย-ภูฏาน หารือความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลง PTA ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจการค้า นโยบายการค้า ขั้นตอนการดำเนินงานภายในประเทศ หวังดันมูลค่าการค้าสองฝ่ายขยายตัว 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 ด้านไทย แจ้งจะต้องศึกษาผลกระทบและหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คาดใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน พร้อมสำรวจตลาดภูฏาน พบสินค้าไทยเป็นที่นิยม มีคุณภาพมาตรฐาน และมีแนวโน้มความต้องการสูง


 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เดินทางเยือนประเทศภูฏาน ระหว่างวันที่ 21 – 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เพื่อหารือกับนายโซนัม เท็นซิน อธิบดีกรมการค้า กระทรวงเศรษฐการของภูฏาน เรื่องความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงสิทธิประโยชน์ทางการค้า (Preferential Trade Agreement: PTA) ซึ่งสืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ระดับรัฐมนตรี ไทย-ภูฏาน เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ณ จังหวัดภูเก็ต โดยที่ประชุมเห็นชอบให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำ PTA เพื่อเป็นหนึ่งกลไกที่จะช่วยให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายขยายตัวจาก 66.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 เป็น 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568

 
นางอรมน กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจการค้า พัฒนาการของนโยบายการค้า ขั้นตอนการดำเนินงานภายในประเทศกรณีการจัดทำ PTA และความคาดหวังการจัดทำ PTA ระหว่างกัน โดยไทยแจ้งว่า จะต้องมีการศึกษาผลกระทบของการจัดทำ PTA และหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน หลังจากนั้นจะรวบรวมข้อมูลเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติในเรื่องดังกล่าวต่อไป ในส่วนของภูฏานได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำ PTA กับไทย เพราะต้องการขยายความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าใหม่ๆ นอกจากอินเดีย บังคลาเทศ และเนปาล ที่มีความตกลงทางการค้าแล้ว

 
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ภายหลังการหารือได้เข้าเยี่ยมคารวะนายล็อคนัท ชาร์มา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการของภูฏาน ซึ่งได้รับทราบถึงแผนการพัฒนาประเทศและแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจของภูฏาน โดยจะมีการปรับโครงสร้างหน่วยราชการและการบริหารงาน เพื่อเตรียมการสู่การเปลี่ยนผ่านเป็นประเทศกำลังพัฒนา ในเดือนธันวาคม 2566 นอกจากนี้ ได้สำรวจตลาดสินค้าไทยและเยี่ยมชมร้านค้า 8 Eleven โดยเป็นผู้นำเข้า จำหน่าย และกระจายสินค้าไทยในภูฏาน ซึ่งพบว่า สินค้าอุปโภคและบริโภคของไทย อาทิ อาหาร เครื่องดื่ม ซอสปรุงรส ครีมบำรุงผิว และเครื่องสำอาง เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวภูฏาน เนื่องจากมีชื่อเสียงด้านคุณภาพและมาตรฐานที่ดี รวมทั้งมีแนวโน้มความต้องการสินค้าไทยที่สูงขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ประกอบกับปัจจุบันภูฏานได้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแล้ว

 
ทั้งนี้ ในปี 2564 การค้าระหว่างไทยและภูฏาน มีมูลค่า 66.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปภูฏาน มูลค่า 66.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ผ้าผืน เครื่องนุ่งห่ม ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และไทยนำเข้าจากภูฏาน มูลค่า 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ยางนอกชนิดที่ใช้กับอากาศยาน ใบชาเขียว ใบเลื่อยสายพาน รูปหล่อขนาดเล็ก และแยมและเยลลี่ผลไม้ สำหรับในช่วง 9 เดือน (ม.ค. – ก.ย. 2565) การค้าระหว่างไทยและภูฏาน มีมูลค่า 20.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปภูฏาน มูลค่า 20.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากภูฏาน มูลค่า 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 พ.ย. 2565 เวลา : 16:15:31
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 9:39 am