การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
"น้องโฟกัส" อายุ 12 ปี ร่วมนำเสนองานวิจัย ในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ "วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ครั้งที่ 3"


ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองศ์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ชื่นชม ด.ช.ศรัณย์ภัทร อุ่ยละพันธุ์ อายุเพียงแค่ 12 ปี ร่วมส่งผลงานวิจัยในหัวข้อ “ความสนใจไดโนเสาร์ในเด็กไทย” Children's interest in dinosaur museums ใน “งานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ครั้งที่ 3 : ความยั่งยืนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและความรับผิดชอบต่อสังคม” (The 3rd International Seminar on Natural Science: Natural Resource Sustainability and People’s Responsibility for Society) ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมงานมากกว่า 150 คน และร่วมนำเสนอผลงาน จำนวน 53 ผลงาน ระหว่างวันที่ 1 – 2 ธันวาคม 2565 ณ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

 
น้องโฟกัส ด.ช.ศรัณย์ภัทร อุ่ยละพันธุ์ โรงเรียนนานาชาติฮีทฟิลด์ จากจุดเริ่มต้นเด็กคนหนึ่งที่ไม่รู้จักคำว่า “ธรรมชาติวิทยา” คืออะไร? สู่การนำเสนอผลงานบนเวทีงานวิชาการนานาชาติ “วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ครั้งที่ 3” จากการเห็นการทำงานของนักธรรมชาติวิทยาของ อพวช. ผู้เป็นแรงบันดาลใจสู่ก้าวแรกแห่งเส้นทางของ “นักบรรพชีวิน” มาสะท้อนมุมมองของเยาวชนรุ่นเยาว์ ที่สนใจงานด้านธรรมชาติที่ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กไทยหันมาสนใจงานด้านธรรมชาติวิทยาและตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น

น้องโฟกัส เล่าถึงที่มาที่ไปกับความสนใจในด้านบรรพชีวินวิทยาว่า “ในตอนแรกผมไม่รู้ว่า “ธรรมชาติวิทยา” คืออะไร? แต่ในปี 2559 ได้มาเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาและได้ร่วมกิจกรรม Research Show by Naturalist จึงได้เห็นการทำงานของ พี่ๆ นักวิชาการด้านธรรมชาติวิทยาของ อพวช. ที่ได้ออกไปศึกษาสำรวจและเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิต ทำให้เกิดความสนใจงานในด้านนี้และก็คิดว่าประเทศเราก็มีอาชีพแบบนี้ด้วยเหรอ หลังจากนั้นผมก็สนใจและเริ่มมาทำกิจกรรมกับทางพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. มาโดยตลอด จนวันหนึ่งได้ไปฟัง Research Show ของนักบรรพชีวินวิทยา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะเป็นนักบรรพชีวินวิทยาตั้งแต่นั้นมา”

 
สำหรับการเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการนานาชาติฯ “น้องโฟกัส” เป็นนักธรรมชาติรุ่นเยาว์ ที่มีโอกาสได้นำเสนอผลงานของตนและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับนักวิจัยในระดับนานาชาติ ถือเป็นการขับเคลื่อนสังคมให้กับวงการของนักธรรมชาติวิทยา น้องโฟกัสฯ เล่าต่อว่า “ก่อนหน้านี้ผมทำพรีเซนต์บรรพชีวินวิทยาจึงได้พูดคุยขอคำแนะนำจาก พี่ปู ชลวิทย์ ทองเจริญชัยกิจ นักวิชาการของ อพวช. และพี่ปูได้แนะนำว่าจะมีงานนี้เกิดขึ้นด้วยความสนใจผมจึงสมัครเข้ามา ซึ่งวันนี้ผมนำเสนอผลงานในหัวข้อ “ความสนใจไดโนเสาร์ในเด็กไทย” Children's interest in dinosaur museums โดยทำการศึกษาว่าเด็กไทยชอบไดโนเสาร์มากน้อยแค่ไหน? เคยมาพิพิธภัณฑ์หรือไม่? และชอบส่วนจัดแสดงไหนมากที่สุด? โอกาสนี้จึงอยากมาแลกเปลี่ยนความรู้ และข้อมูลที่ผมได้เก็บตัวอย่างมากับนักธรรมชาติวิทยาและกับนักวิจัยท่านอื่นๆ”

 
ผศ.ดร.รวินฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่ อพวช. มีส่วนในการสร้างนักธรรมชาติวิทยารุ่นเยาว์ ซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต อพวช. หวังว่าเวทีนี้จะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่สร้างเครือข่าย ผลักดัน ส่งเสริมงานด้านธรรมชาติวิทยาโดยเฉพาะประเด็นสำคัญของประเทศที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศวิทยา ซึ่งนำไปสู่การตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและก่อให้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์อันเป็นการรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป”

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ธ.ค. 2565 เวลา : 07:11:08
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 12:55 am