การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กอนช.พร้อมรับมือฝนภาคใต้ตอนล่าง ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนบางลางป้องกันผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ


กอนช.พร้อมรับมือฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ระดมกำลังเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก พร้อมคุมเข้มแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกขนาด ให้สอดคล้องสถานการณ์ ประเดิมปรับลดการระบายน้ำเขื่อนบางลาง หวั่นผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ
 
 

 
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ตามที่ กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์และประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์ (ONE MAP) จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า ช่วงวันที่ 8-11 ธ.ค.65 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง และหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะบอร์เนียวจะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซีย ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ตามประกาศ กอนช.ฉบับที่ 56/2565 โดยพบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ได้แก่ จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล ตรัง สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และชุมพร รวมทั้งยังต้องติดตามเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ที่จะส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง ปัจจุบันพบสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งบริเวณ อ.เมือง จ.ชุมพร

 
นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) และอ่างฯ ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นที่จะกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ที่ก่อนหน้าได้มีการเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมพื้นที่รับน้ำไว้เป็นการล่วงหน้า ปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 894.11 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 61.5% แม้ปริมาตรของเขื่อนยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 560.25 ลบ.ม. แต่เพื่อป้องกันผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ได้มีการพิจารณาปรับลดการระบายน้ำอยู่ที่ 5 ล้าน ลบ.ม. (จากเดิม 6.05 ล้าน ลบ.ม.) โดยเริ่มลดการระบายเมื่อวานนี้ (7 ธ.ค. 65) เพื่อลดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนให้น้อยที่สุด

 
สำหรับปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำเกิน 80% ไปแล้วจำนวน 25 แห่ง ใน 8 จังหวัด แบ่งเป็น อ่างฯที่มีปริมาตรน้ำตั้งแต่ 80-100% จำนวน 22 แห่ง เช่น อ่างฯคลองหาดส้มแป้น จ.ระนอง อ่างฯบางทรายนวล จ.สุราษฎร์ธานี อ่างฯคลองแห้ง จ.กระบี่ อ่างฯบางวาด จ.ภูเก็ต อ่างฯคลองท่างิ้ว จ.ตรัง อ่างฯคลองจำไหร จ.สงขลา อ่างฯทุ่งขาม จ.เพชรบุรี อ่างฯยางชุม จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น และอ่างฯที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 100% จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อ่างฯห้วยทราย อ่างฯห้วยสงสัย จ.เพชรบุรี อ่างฯคลองหยา จ.กระบี่ ทั้งนี้ กอนช. โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ประชุมติดตาม วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ พร้อมให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบอ่างเก็บน้ำหรือแหล่งน้ำต่างๆ

 
บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมและปรับแผนให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงอิทธิพลการขึ้น–ลงของระดับน้ำทะเลด้วย โดยให้เตรียมการเร่งระบายน้ำและพร่องน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก ลงพื้นที่ตรวจสอบและซ่อมแซมตามแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมทั้งการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่และเครื่องมือประจำในจุดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ให้เพียงพอและทันต่อการให้ความช่วยเหลือ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าอย่างต่อเนื่องด้วย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ธ.ค. 2565 เวลา : 12:27:48
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 3:07 am