การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น มีประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากสายพันธุ์โอมิครอนได้ในระดับสูง อ้างอิงจากการศึกษาการใช้จริงในประเทศไทย


 
องค์การอนามัยโลก แนะนำวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น ในคู่มือแนวปฏิบัติฉบับปรับปรุงล่าสุด

การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สาม หลังจากได้รับวัคซีนชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดกัน มีประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ในระดับสูง โดยสามารถลดความเสี่ยงได้ถึง 89% และเมื่อได้รับการฉีดเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สี่ พบว่าระดับการป้องกันเชื้อไวรัสสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่พบการเจ็บป่วยรุนแรงหรือการเสียชีวิตในผู้ที่ได้รับวัคซีน จากผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และคณะ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน International Journal of Infectious Diseases1 จากทุกสูตรวัคซีนที่ทำการศึกษา (ทั้งในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนเข็มหลักชนิดเดียวกัน หรือ วัคซีนต่างชนิดกัน) บ่งชี้ว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หรือ วัคซีนชนิด mRNA เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น มีประสิทธิผลในการป้องกันได้ในระดับสูงไม่แตกต่างกัน1

จากการพิจารณาข้อมูลล่าสุด รวมถึงผลการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และคณะ และคำแนะนำจากคณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกัน (Strategic Advisory Group of Experts - SAGE) องค์การอนามัยโลกจึงได้ทำการปรับคู่มือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับแนวทางการใช้วัคซีนเข็มกระตุ้น โดยครอบคลุมการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดไวรัลเวคเตอร์ ซึ่งรวมถึงวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามหรือเข็มที่สี่ ในการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ทุกรูปแบบ2

ทางองค์การอนามัยโลกยังได้สรุปว่า ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการใช้วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ (Bivalent Vaccine) เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น แทนวัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์และชนิด mRNA3

ผลการศึกษาจากข้อมูลชุดเดียวกัน ที่ได้รับการตีพิมพ์แบบฉบับ preprint ใน Research Square ไปก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สาม มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 จากสายพันธุ์โอมิครอนได้ในระดับสูงเทียบเท่าวัคซีนชนิด mRNA4

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาร่วมกับคณะทำงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “การศึกษานี้ได้แสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่สำคัญว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิผลในการป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงหรือการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากสายพันธุ์โอมิครอนได้ดี เมื่อใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามหรือเข็มที่สี่ ซึ่งผลการวิจัยดังกล่าวได้สนับสนุนการฉีดวัคซีนในแบบสูตรไขว้ต่างๆ หรือแบบ ‘มิกซ์แอนด์แมตช์’ ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นให้อัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมประชากรได้มากขึ้น"

นายจอห์น เปเรซ รองประธานอาวุโส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาขั้นสุดท้าย ฝ่ายวัคซีนและภูมิคุ้มกันบำบัด แอสตร้าเซนเนก้า กล่าวเสริมว่า “ข้อมูลล่าสุดนี้ ช่วยสนับสนุนและเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับประสิทธิผลของการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งสามารถช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงการเกิดโรครุนแรง รวมถึงลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต โดยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน ทั้งในฐานะวัคซีนเข็มหลักและวัคซีนเข็มกระตุ้น”

ปัจจุบัน แอสตร้าเซนเนก้าและพันธมิตรทั่วโลกได้ส่งมอบวัคซีนแล้วกว่า 3 พันล้านโดส ให้แก่ประเทศต่างๆ มากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก โดย 2 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนดังกล่าว ได้ถูกส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ได้ช่วยปกป้องชีวิตผู้คนกว่า 6 ล้านชีวิต อ้างอิงจากในช่วง 12 เดือนแรกที่มีการใช้วัคซีน5

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ธ.ค. 2565 เวลา : 21:16:21
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 5:42 am