การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรมการขนส่งทางบก เดินหน้า!!! ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของรถอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกมิติทั้งรถทั่วไปและรถไฟฟ้า และสอดคล้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยผู้ผลิต ประกอบ หรือนำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ต้องขอรับรองแบบกับ กรมการขนส่งทางบกตามเงื่อนไขที่กำหนด


 

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่ากรมการขนส่งทางบกได้เดินหน้ายกระดับมาตรฐาน ความปลอดภัยของรถอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้การขนส่งทางถนนเป็นไปด้วยความปลอดภัย สอดคล้อง ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยได้ออกประกาศกรมการขนส่งทางบก กำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ ระบบการทำงาน และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับรองส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งานและมีมาตรฐานสอดคล้องตามข้อกำหนดสหประชาชาติ (UN Regulation) ซึ่งเป็นข้อกำหนดทางเทคนิคด้านยานยนต์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและเป็นที่นิยมใช้กัน อย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก โดยที่ผ่านมาได้ออกประกาศหลายฉบับ อาทิเช่น มาตรวัดความเร็ว อุปกรณ์มองภาพ กระจกนิรภัย แตรสัญญาณ จุดยึดเข็มขัดนิรภัย การติดตั้งเข็มขัดนิรภัย จุดยึดที่นั่งและพนักพิงศีรษะ ระบบห้ามล้อ ระดับเสียง เป็นต้น ซึ่งส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวต้องได้รับการรับรองแบบจากกรมการขนส่งทางบกก่อนจึงจะสามารถจดทะเบียนเพื่อใช้งานบนท้องถนนได้ ในปัจจุบันรถไฟฟ้าซึ่งนับเป็นหนึ่งในรถพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกำลังได้รับ ความสนใจและเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยกรมการขนส่งทางบกและหลายหน่วยงานได้มีการกำหนดนโยบายสนับสนุน ส่งเสริม และจูงใจให้มีการใช้งานรถไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เช่น มาตรการลดภาษีประจำปี มาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถไฟฟ้าในประเทศ เพิ่มสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้รถไฟฟ้ามีความปลอดภัยในการใช้งานและยกระดับมาตรฐานเกี่ยวกับรถไฟฟ้าให้สอดคล้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล กรมการขนส่งทางบกจึงได้ออกประกาศกรมการขนส่งทางบกกำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับรองแบบเครื่องกำเนิดพลังงานที่ขับเคลื่อน ด้วยพลังงานไฟฟ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีเนื้อหารายละเอียดเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไฟฟ้าของตัวรถและแบตเตอรี่ เช่น การป้องกันการสัมผัสชิ้นส่วนที่มีไฟฟ้าทั้งทางตรงและทางอ้อม การติดเครื่องหมายเตือนในส่วนที่มีไฟฟ้าแรงดันสูง สายไฟฟ้าแรงดันสูงต้องหุ้มด้วยฉนวนสีส้ม และความแข็งแรงของชุดแบตเตอรี่ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องตามข้อกำหนดสหประชาชาติที่ 100 ว่าด้วยคุณลักษณะ เฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้าของรถยนต์ (UN Regulation No. 100) และข้อกำหนดสหประชาชาติที่ 136 ว่าด้วยคุณลักษณะเฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้าของรถจักรยานยนต์ (UN Regulation No. 136) โดยเริ่มมีผลใช้บังคับกับแบบรถใหม่ที่ผลิต ประกอบ หรือนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

 
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่ออีกว่าในการจดทะเบียนรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ผู้ผลิต ประกอบ หรือนําเข้ารถยนต์นั่ง (ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน 9 ที่นั่ง) รถยนต์บรรทุก (ที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม) และรถจักรยานยนต์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ “จำหน่าย” หรือ “ใช้เองเกินกว่าจำนวนที่กำหนด” (3 คัน/แบบ/ปี สำหรับรถยนต์ และ 5 คัน/แบบ/ปี สำหรับรถจักรยานยนต์) ต้องขอรับรองแบบส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ ของรถกับกรมการขนส่งทางบกก่อน จึงจะสามารถจดทะเบียนได้ โดยผู้ผลิต ประกอบ หรือนําเข้ารถต้องจัดเตรียมเอกสารสำหรับยื่นขอรับรองแบบ เช่น เอกสารแสดงข้อมูลรายละเอียดรถ รายงานผลการทดสอบ และเอกสารแสดงการตรวจสอบการผลิตให้เป็นไปตามต้นแบบ รวมทั้ง เตรียมรถต้นแบบเพื่อเข้ารับการตรวจสอบ โดยสามารถยื่นขอรับรองแบบ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มมาตรฐานยานยนต์
สำนักวิศวกรรมยานยนต์ อาคาร 6 ชั้น 3 กรมการขนส่งทางบก เบอร์ 0-2271-8603 หรือเว็บไซต์ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ http://www.dlt.go.th/site/aeb/ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 ธ.ค. 2565 เวลา : 16:22:03
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 9:06 am