แบงก์-นอนแบงก์
"กรุงไทย" ชี้ภาคท่องเที่ยวฉายเดี่ยว หนุนจีดีพีปี 66 ท่ามกลางความเสี่ยงโลก แนะภาคธุรกิจปรับตัวรับ 5 ปัจจัยเปลี่ยนผ่าน


 
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2566 ฟื้นตัวต่อเนื่อง เติบโต 3.4% จากแรงขับเคลื่อนของภาคการท่องเที่ยวที่สนับสนุนเศรษฐกิจทดแทนการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ชี้ไทยเผชิญ 5 ปัจจัยการเปลี่ยนผ่านสำคัญ เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับภาคธุรกิจ “การก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ-เศรษฐกิจโลกชะลอตัว-ภาคท่องเที่ยวฟื้น-ดอกเบี้ยขาขึ้น-ภาวะต้นทุนสูง” แนะภาคธุรกิจแสวงหาโอกาสและวางแผนรับมือกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามากระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมิน ปี 2566 ว่า เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง นำพาเศรษฐกิจไทยไปอยู่ในจุดที่ไม่คุ้นเคย ภายใต้โลกใหม่ที่มีความผันผวนและซับซ้อนมากขึ้น โดยมีการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1.การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 2.เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะชะลอตัว 3.เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่ภาคการท่องเที่ยว 4.การเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นของไทย และ 5.การเปลี่ยนผ่านท่ามกลางแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้น

“Krungthai COMPASS มองว่า การเปลี่ยนผ่านทั้ง 5 ด้านมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เป็นได้ทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับภาคธุรกิจ เพราะผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับอุปสรรคในการปรับตัวเข้าบริบทโลกใหม่ที่ใส่ใจกับเรื่อง Climate Change และความยั่งยืน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการปรับธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจที่ประกอบกิจการตรงข้ามกับเรื่องนี้ อีกทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ และผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ในปีนี้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ที่ต้องเผชิญกับต้นทุนทางด้านพลังงานที่สูงขึ้น กระทบกับทั้งค่าน้ำมัน ค่าไฟ เผชิญกับสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงการขาดแคลนแรงงานด้านการบริการไปมากตั้งแต่ช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดในปี 2020 ที่แรงงานในเมืองต่างโยกย้ายกลับไปต่างจังหวัด ทำให้เมื่อภาคการท่องเที่ยวกับมาเป็นตัวนำเศรษฐกิจในปีนี้แทนภาคการส่งออก การจะดึงดูดให้แรงงานกลับมาก็อาจจะต้องเพิ่มค่าแรงที่สูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้รวมเป็นต้นทุนทางด้านการผลิตที่มีมากกว่าเดิม แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น การเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ก็นำมาซึ่งโอกาสที่ให้ผู้ประกอบการทุกคนลงสนามพร้อมกันอีกครั้งหนึ่ง โดยใครที่ปรับตัวได้เร็วก่อน ก็จะมองเห็นลู่ทางธุรกิจใหม่ๆ มีโอกาสเติบโตแม้ในยามที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว”

ดร.ฉมาดนัย มากนวล นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แม้ว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ จะชะลอตัวจากการขึ้นดอกเบี้ย และยุโรปมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตพลังงาน แต่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศเหล่านั้น ยังมีทิศทางที่เข้มข้นมากขึ้น สะท้อนจากการตอกย้ำจุดยืนของประชาคมโลกรวมถึงประเทศไทยในเวทีการประชุม COP27 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา สำหรับในปี 2566 ว่าภาคธุรกิจต้องติดตามประเด็นด้านกฎเกณฑ์ที่สำคัญ อาทิ การเดินหน้าบังคับใช้มาตรการการเก็บภาษีคาร์บอนที่พรมแดน หรือ CBAM ของยุโรป และแนวทางในการกำหนดมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ Taxonomy ของประเทศไทย นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังต้องมองหาโอกาสจากนโยบายรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น นโยบายเศรษฐกิจ BCG และนโยบายการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติภายใต้แนวคิด “Better and Green Thailand 2030” เป็นต้น

 
นายชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า Krungthai COMPASS คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตที่ 3.4% ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ขยายตัวได้ 3.2% โดยแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจะถูกเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 22.5 ล้านคนหรืออาจจะมากกว่านี้ เพราะมีการประกาศเปิดประเทศของจีน เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนหลังหลังการผ่อนคลายนโยบาย Zero COVID ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามายังไทยเพิ่มขึ้น 4.8 ล้านคน ส่งผลบวก 0.3% ของ GDP ไทย แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงลงในปีนี้นั้น ทำให้กระทบต่อการส่งออก ซึ่งอาจขยายตัวเพียง 0.7% เท่านั้น (จาก 7% ในปีที่แล้ว) เท่ากับว่า ภาคการท่องเที่ยวจะฉายเดี่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ส่งผลการเติบโตทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก 

นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อสูงที่ยังไม่หมดไป ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหายังคงมีอยู่  โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีจะยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลให้คาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.25% ในปี 2565 ขึ้นสู่ระดับ 2% ในปี 2566 และอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal rate) อาจอยู่ที่ 2.5% ในปี 2567 เป็นยุคดอกเบี้ยขาขึ้นเต็มตัวของประเทศไทย ทาง Krungthai COMPASS จึงมีการประเมินเสริมว่า ดอกเบี้ยเงินกู้จะปรับขึ้น หลังมาตรการ FIDF Fee สิ้นสุด อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้กลุ่ม M Rate ปรับขึ้น 0.4% ซึ่งคาดว่า MLR ต่ำสุดอาจแตะที่ระดับ 6.6% ในปลายปีนี้

ส่วนทางด้านของนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ก็ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ค่าเงินบาทยังเผชิญความผันผวน โดยคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33.75-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นตัวกดดันที่ทำให้ต้นทุนมีราคาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของพลังงานที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งถึงแม้จะมีการปรับลดลงจากปีก่อน แต่ก็ยังมีราคาที่สูงอยู่ ผนวกกับการสิ้นสุดของการที่รัฐปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ในวันที่ 20 ม.ค.ที่จะถึงนี้ ทำให้ธุรกิจยังเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการอาจส่งผ่านราคามายังสินค้า ทำให้สินค้าบางประเภทมีทิศทางที่จะปรับราคาแพงขึ้น 


 
โดย ดร.พชรพจน์ กล่าวเสริมว่า ยิ่งเฉพาะสินค้าสำเร็จรูป เมื่อมีการปรับราคาขึ้นแล้วจะไม่ลดราคาลงง่ายๆ อีกทั้งในตอนนี้ไม่มีแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐในการออกมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนเหมือนปีที่แล้ว ทำให้การบริโภคภายในประเทศ หรือ Private Consumption หดตัวลงเหลือ 3.5% (จาก 6.2% ในปีก่อน) เท่ากับว่า ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นความหวังเดียวของเศรษฐกิจในปี 2566 นี้ ที่จะเข้ามาพยุงธุรกิจในไทย ซึ่งอาจจะมีทิศทางที่ดีกว่าที่ทางศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินไว้ หากสถานการณ์โลกไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงในอนาคต ส่วนเรื่องของค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่าขึ้น ดร. พชรพจน์มองว่าไม่กระทบกับการท่องเที่ยว เนื่องจากคาดว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมา คือกลุ่มคนที่ไม่ได้เข้ามาเที่ยวในไทยตั้งแต่ช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด ความเป็นไปได้ที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่ามากที่สุดในระดับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังถือเป็นค่าที่รับได้ หากเทียบกับค่าเงินบาทในช่วงก่อนหน้าดังกล่าวที่เคยอยู่ในระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ม.ค. 2566 เวลา : 16:22:26
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 1:36 pm