การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
Scoop : ระวังตกขบวนการทำธุรกิจแบบ BCG เมื่อโลกธุรกิจทุกภาคส่วนกำลังหันมาจัดทัพส่งเสริมการรักษ์โลก


 
ทุกคนทราบกันดีว่ากระแสรักษ์โลกนั้นมันมีมานานในระยะหนึ่งแล้ว ทั้งการเริ่มต้นไม่แจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าหันมาใช้ถุงผ้าแทน การลดราคาเครื่องดื่มหากเอาแก้วของตัวเองมาใช้แทนแก้วพลาสติกของร้าน และยังมีแคมเปญอื่นๆ จากภาคธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแคมเปญเหล่านี้นั้นไม่เพียงพอที่จะสามารถทำให้ทุกคนหันมาปฏิบัติตามได้ การใช้ถุงพลาสติกและแก้วพลาสติกก็ยังมีอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความสะดวกที่สอดรับกับวิถีชีวิตประจำวันที่เร่งรีบของผู้คน หรือโครงสร้างของสังคมที่เราอยู่มันไม่ได้เอื้อต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมขนาดนั้น เช่นการแยกขยะตามบ้านเรือน อาคารคอนโดที่อยู่อาศัย ตามแนวรถไฟฟ้า หรือห้างสรรพสินค้านั้นไม่ได้มีถังขยะสำหรับแยกในทุกพื้นที่ เราจึงเห็นการใช้พลาสติกเหล่านี้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งทั่วไป แถมยังปะปนกับเศษขยะอื่นๆ เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าในตอนนี้การรณรงค์ในเรื่องดังกล่าวยังดูไม่ใช่เรื่องที่มีประสิทธิภาพ หรือสามารถทำได้จริง เป็นเพียงเรื่องของอุดมคติเท่านั้นในประเทศไทย

ซึ่งที่เราเห็นว่าเรื่องของการรักษ์โลกมันไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ เป็นเพราะโครงสร้างของประเทศไทยเราเป็นหลักเอง ที่ตอนนี้ยังไม่ได้กระตุ้นให้เกิด Awareness และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมมากนัก หากหันไปมองยังประเทศข้างเคียงอย่างญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ ก็จะเห็นได้เลยว่า เขามีมาตรการควบคุมจากทางฝั่งของรัฐบาลที่ Shape ให้คนต้องมีวินัยปฏิบัติตามในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด และนอกเหนือจากนี้ ภาคธุรกิจก็ถือว่ามีอิทธิพลอย่างมากเช่นกัน ที่จะเป็นตัวแปรหลักให้สังคมนั้นเกิดการหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ ที่เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงของธุรกิจอย่างธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ

ซึ่งหากมองลึกๆลงไป แนวคิด ESG (Environment, Social and Governance) หรือแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล แท้จริงแล้วกำลังเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะไทยเองได้ประกาศเจตนารมณ์ในการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี 2608 โดยกำลังกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนมากขึ้นให้ขอบเขตของกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรฐานสากลเพื่อให้ทุกภาคส่วน อาทิ ภาคการเงิน ภาครัฐ และภาคเอกชน นำไปใช้อ้างอิงในกระบวนการทำงานที่เชื่อมโยงกัน โดยในปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำ Thailand Taxonomy ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรฐานกลางในการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและสอดคล้องกับบริบททางสังคมและเศรษฐกิจของไทย ซึ่งคาดว่าจะทยอยดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2566

และจากในเรื่องเดียวกัน ฝั่งของรัฐบาลไทยเองก็ได้กำหนดนโยบายขับเคลื่อน BCG ซึ่งเป็นโมเดลของเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาโลกร้อน ใส่ใจสังคมลดภาวะการว่างงาน ส่งเสริมความมั่นคงทางด้านอาหาร พลังงาน สุขภาพ และความยั่งยืน เป็นเทรนด์ธุรกิจที่ ณ ขณะนี้หลายๆองค์กรกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก และผลักดันอยู่ อย่างทาง Exim Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ก็ได้ใช้โมเดล BCG มาดำเนินธุรกิจเช่นกัน โดยมุ่งจับเทรนด์ของ Renewable Energy และธุรกิจ Recycle มาตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งด้วยการเป็นธนาคารที่เกี่ยวโยงกับการทำธุรกิจในไทย ทาง Exim Bank เองก็จะมุ่งส่งเสริมการบุกตลาดการค้าการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ และใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของบริษัท เช่น บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อแบรนด์ “Gracz” ที่ผลิตบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อยผสมเยื่อไผ่อันโด่งดังที่ส่งให้กับร้านอาหารทั่วประเทศ ก็ได้รับการผลักดันจากทาง Exim Bank เนื่องจากเป็นการทำธุรกิจที่สอดรับกับโมเดล BCG ของที่ธนาคารยึดถืออยู่ ซึ่งทางธนาคารก็จะพิจารณาการให้สินเชื่อกับรูปแบบธุกิจที่ใส่ใจกับโมเดลนี้

จากตัวอย่างข้อมูลดังกล่าว จึงชี้ให้เห็นได้ว่า ธุรกิจที่ไปต่อได้หากมองในระยะยาวต่อไป คือธุรกิจที่ยึดถือกับโมเดล BCG ที่เป็นมิตรและไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ตอนนี้เรื่องของการรักษ์โลกอาจจะยังไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่างเท่าที่ควร แต่โลกธุรกิจต่างกำลังมุ่งเดินทางมาในถนนสายนี้กันทุกภาคส่วน หากอยากประสบความสำเร็จในเส้นทางผู้ประกอบการ และไม่โดนทิ้งไว้ข้างหลัง การยึดถือโมเดล BCG ตั้งแต่ตอนนี้ไปพร้อมกับการผลักดันแนวคิด ESG ของไทยก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่จะสร้างโอกาสทั้งด้านการเงิน และการยอมรับจากกระแสหลักของสังคมในอนาคตอย่างยั่งยืน
 

LastUpdate 12/02/2566 19:32:53 โดย : Admin
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 12:34 am