การค้า-อุตสาหกรรม
ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีผลิตพืชตามแนวพระราชดำริใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด


ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการโครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริบริหารการจัดการที่ดินและน้ำสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยหมักเติมอากาศ ปุ๋ยชีวภาพเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีผู้สนใจเยี่ยมชมโครงการไม่ต่ำกว่า 500 รายต่อปี ขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่ดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

 
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีกรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินงานโครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานแนวทางและหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้มีการเป็นอยู่อย่างพอเพียง เกิดการพึ่งพาตนเอง มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์

ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ได้ร่วมสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ฯ ภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริ“ทฤษฎีใหม่”ตั้งแต่ปี2551เป็นต้นมา โดยการดำเนินงานประกอบด้วยพื้นที่ 4 กิจกรรม คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่ร้อยละ 30 : 30 : 30 : 10 คือ

 
กิจกรรมที่ 1พื้นที่บ่อน้ำ 30% เลี้ยงปลาในกระชัง ได้แก่ ปลาทับทิม และปลานอกกระชังคือปลาตามธรรมชาติ

 
กิจกรรมที่ 2 พื้นที่นาข้าว30% ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ข้าวพันธุ์ กข 43 ข้าวฟ่างสายพันธุ์ UT1694

 
กิจกรรมที่ 3พื้นที่ปลูกไม้ผล 30%กิจกรรมนี้แบ่งพื้นที่ปลูกพืชไร่ พืชผัก เช่น ส้มโอ ฝรั่ง ชมพู่ กล้วย มะม่วง พุทรา เป็นต้น

 
กิจกรรมที่4 พื้นที่อยู่อาศัย 10%เป็นพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งสัดส่วนนี้สามารถปรับเปลี่ยนหรือยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

 
ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีได้เน้นการดำเนินงานแบบการผลิตเพื่อยังชีพ มีผลผลิตพอมีพอกินตลอดปี หากมีผลผลิตเหลืออาจนำมาจำหน่ายหรือแปรรูป เพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิกในพื้นที่อีกด้วย ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาของการดำเนินงาน มีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมโครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” ไม่น้อยกว่า 500 รายต่อปี โดยศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีมีการจัดฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจเป็นประจำทุกปี และเมื่อเกษตรกรได้รับการอบรมแล้วสามารถนำไปปรับใช้กับการทำการเกษตรของตนเองได้ ทำให้มีการขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง

 
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ กล้าพันธุ์ผัก และพันธุ์ไม้ผลปุ๋ยหมักเติมอากาศ ปุ๋ยชีวภาพให้กับเกษตรกร เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรสามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงและผันผวน มีผลตอบแทนที่ทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาและดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 มี.ค. 2566 เวลา : 12:04:00
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 5:50 pm