การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรมขนส่งทางบกเผย คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการรถตู้โดยสารประจำทางที่ได้รับผลกระทบจากCOVID-19


กรมการขนส่งทางบก เผย!!! คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการรถตู้โดยสารประจำทางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ให้สามารถใช้รถตู้โดยสารประจำทาง ทำการขนส่งออกไปได้อีกไม่เกิน 3 รอบปีภาษีนับแต่วันครบอายุการใช้งาน


นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการรถตู้โดยสารประจำทางในเส้นทางหมวด 1 ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง หมวด 4 กรุงเทพมหานคร หมวด 1 หมวด 4 ในส่วนภูมิภาค หมวด 2 และหมวด 3 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดชองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้สามารถใช้รถตู้โดยสารประจำทาง ทำการขนส่ง ออกไปได้อีกไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันครบอายุ ตามรอบปีภาษีที่จดทะเบียนรถ

 
จากกรณีที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ในห้วงเวลาดังกล่าวภาครัฐได้มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคฯ ทำให้มีปริมาณผู้โดยสารลดลง จำนวนเที่ยวการเดินรถที่ให้บริการลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ รถตู้โดยสารประจำทางอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี นั้น

กรมการขนส่งทางบกได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการรถตู้โดยสารประจำทาง โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ให้สามารถใช้รถตู้โดยสารทำการขนส่งออกไปได้อีกไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันครบอายุ ตามรอบปีภาษีที่จดทะเบียนรถ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรถตู้โดยสารประจำทางที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 11,034 ราย เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการรถตู้โดยสารประจำทาง กรณีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) พบว่ามีประชาชนเห็นด้วยกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ 74.7 รวมทั้งได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น จากหน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น ประกอบด้วยภาควิชาการ องค์กรภาคประชาชน และผู้ประกอบการรถตู้โดยสารประจำทาง พบว่าความคิดเห็นส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งรถตู้โดยสารประจำทางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฯ โดยมีเงื่อนไขให้กรมการขนส่งทางบก เพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยของ รถตู้โดยสารประจำทาง ในด้านการตรวจสภาพรถอย่างเข้มข้นเพื่อความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน

สำหรับกรอบการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการรถตู้โดยสารประจำทางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ตามเงื่อนไขและระยะเวลา ดังนี้

1. รถตู้โดยสารที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2554 - 31 มี.ค. 2555 สามารถใช้รถตู้โดยสารทำการขนส่งออกไปได้อีก 1 รอบปีภาษี (12+1 ปี)

2. รถตู้โดยสารที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2555 - 31 มี.ค. 2556 สามารถใช้รถตู้โดยสารทำการขนส่งออกไปได้อีก 2 รอบปีภาษี (11+2 ปี)

3. รถตู้โดยสารที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2556 - 25 มี.ค. 2563 (เมื่ออายุการใช้งานครบ 10 ปี นับแต่ วันจดทะเบียนครั้งแรกแล้ว) สามารถใช้รถตู้โดยสารทำการขนส่งออกไปได้อีก 3 รอบปีภาษี (10+3 ปี)

4. รถตู้โดยสารที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 26 มี.ค. 2563 – 31 ธ.ค. 2563 (เมื่ออายุการใช้งานครบ 10 ปี นับแต่ วันจดทะเบียนครั้งแรกแล้ว) สามารถใช้รถตู้โดยสารทำการขนส่งออกไปได้อีก 3 รอบปีภาษี (10+3 ปี)

5. รถตู้โดยสารที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2564 – 31 ธ.ค. 2564 (เมื่ออายุการใช้งานครบ 10 ปี นับแต่ วันจดทะเบียนครั้งแรกแล้ว) สามารถใช้รถตู้โดยสารทำการขนส่งออกไปได้อีก 2 รอบปีภาษี (10+2 ปี)

6. รถตู้โดยสารที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2565 – 30 ก.ย. 2565 (เมื่ออายุการใช้งานครบ 10 ปี นับแต่ วันจดทะเบียนครั้งแรกแล้ว) สามารถใช้รถตู้โดยสารทำการขนส่งออกไปได้อีก 1 รอบปีภาษี (10+1 ปี)

ทั้งนี้ เมื่อสิ้นอายุรอบปีภาษีที่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว รถตู้โดยสารประจำทางที่จดทะเบียนหลัง 30 ก.ย. 2565 ยังคงมีอายุการใช้งาน 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก ตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ในการประชุมครั้งที่ 8/2551 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 เม.ย. 2566 เวลา : 18:18:49
05-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 5, 2024, 5:58 pm