การตลาด
Special report : "Storytelling" ศาสตร์การสร้างคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ที่ช่วยภาคธุรกิจได้จริง


ในยุคที่ผู้คนต่างอยู่กระจุกตัวกันบนโลกออนไลน์ และสามารถติดต่อรับสารกันข้ามโลกได้อย่างไร้พรมแดน ประโยคที่ว่า “Content is a king” ก็คงได้รับการพิสูจน์มาอย่างนับไม่ถ้วนแล้วว่าเป็นความจริงแท้แน่นอน อีกทั้งยังกลายมาเป็นหลักปฏิบัติสำหรับเหล่าธุรกิจ ครีเอเตอร์หรือใครก็ตาม ที่ต้องการประกาศการมีอยู่ของตัวเองบนโลกออนไลน์ เพราะโลกดังกล่าวมีปริมาณข้อมูลอยู่อย่างมหาศาล และเกิดขึ้นใหม่ในทุกๆวัน ผู้คนจึงมีอิสระที่จะเลือกรับสาร และเลือกดูคอนเทนต์ต่างๆได้อย่างเสรี ไม่ใช่สื่อในยุคโทรทัศน์ ที่มีเนื้อหาให้เลือกดูอย่างจำกัด ผู้คนมีทางเลือกไม่มากนัก จึงมีการเปิดรับอะไรบางอย่างไปในทางเดียวกัน (Mass Adoption) โดยเฉพาะเรื่องของการบริโภค จากการรับรู้ในสื่อโฆษณาที่คั่นเวลาของละคร หรือรายการต่างๆที่กำลังดูอยู่

ในยุคออนไลน์นี้ สถานะของผู้ชมได้เปลี่ยนไปเป็นคนที่มีอำนาจในการเลือกเสพสื่อและคอนเทนต์ สามารถกดเลื่อนผ่านอะไรที่พวกเขาไม่สนใจ และเลือกที่จะดูแต่สิ่งที่พวกเขาชอบเท่านั้น ฉะนั้นแม้ในยุคปัจจุบันที่เปิดโอกาสให้กับธุรกิจทุกขนาดได้มีโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าและผู้บริโภคมากขึ้น แต่ก็มีการแข่งขันที่สูงมากตามไปด้วย จึงจำเป็นที่เราจะต้องทำการตลาดที่สามารถทำให้พวกเขาหยุดดู และเกิดความสนใจในสินค้าหรือบริการของเรา ซึ่งก็คือการอาศัยการคิดสร้างสรรค์คอนเทนต์ขึ้นมา โดยศาสตร์ของ Storytelling เป็น 1 ในเครื่องมือที่สามารถสร้างความโดดเด่นให้กับธุรกิจของเราได้

Storytelling คือรูปแบบการทำคอนเทนต์ชนิดหนึ่งด้วยวิธีการเล่าเรื่อง ซึ่งจะเป็นการเล่าประวัติความเป็นมา เล่าประสบการณ์ หรือความรู้อะไรต่างๆก็ย่อมได้ เมื่อเอาวิธีการเล่าเรื่องมาผูกกับสินค้าหรือบริการของเรา จะทำให้สินค้าชิ้นนั้นดูมีความน่าสนใจมากขึ้น และมีความแตกต่างจากสินค้าในตลาดชิ้นอื่นๆ เพราะเรื่องเล่าที่เราใส่เข้าไปจะเป็นการชูจุดเด่น หรือคุณสมบัติที่มีลักษณะเฉพาะออกมา ทำให้มองเห็นได้ชัดขึ้น สามารถแยกแยะสินค้าของเราออกจากสินค้าอื่นๆที่อาจอยู่ในหมวดหมู่ชนิดเดียวกันได้

ยกตัวอย่างการทำ Storytelling อย่างการเปิดร้านอาหารร้านหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยที่มีเจ้าอื่นๆเปิดอยู่แล้วมากมาย การสร้างคอนเทนต์เพื่อทำการตลาดให้เป็นที่รู้จัก และรู้สึกสนใจในความแตกต่าง เราก็อาจจะต้องหาสิ่งที่มีความเฉพาะตัวมาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าให้กับร้าน หรือเมนูอาหารก็ได้ อย่างเป็นร้านอาหารที่อยู่ในบ้านเก่าอายุกว่า 100 ปี เป็นบ้านของทวดของเจ้าของร้านที่ส่งทอดตำรับอาหารไทยแบบชาววังมาให้ หรือทำ Storytelling กับตัวเมนูอาหาร เช่น ตั้งชื่อว่าข้าวคลุกกะปิสูตรยายจันท์ พร้อมเล่าที่มานิดหน่อย ก็สร้างเอกลักษณ์ให้กับเมนูอาหารของเราได้แล้ว

หรือรูปแบบการทำ Storytelling ที่เป็นที่นิยมและมีประสิทธิภาพสูงก็คือ การยึดเรื่องราวชีวิตของบุคคลๆหนึ่งมาสร้างความพิเศษให้กับตัวสินค้าและบริการ โดยจะต้องมี การแนะนำ (Introduction) ว่าเขาเป็นใคร ทำอะไร  มีจุดหลักของเรื่อง (Rising Action) ว่าระหว่างทางเขาพบเจออะไรบ้าง เป็นจุดสร้างความเข้มข้นของเรื่อง จากนั้นก็มี จุดพลิกผัน (Climax) ว่าเดินทางมาถึงการเปลี่ยนแปลงอะไร และ บทสรุปของเรื่อง (Conclusion) ว่าสุดท้ายแล้วเรื่องราวทั้งหมดนำไปสู่อะไร ซึ่งเราจะพบเจอ Storytelling แบบนี้ในสินค้าแบรนด์เนม อย่างแบรนด์ Bvlgari ที่โดดเด่นเรื่องอัญมณี ซึ่งแบรนด์นี้ก็ก่อตั้งมาจาก นาย โซเทริโอ บุลการิ (Sotirio Bulgari) ชายชาวกรีกที่เป็นช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการทำเครื่องประดับจากเงิน จนมาทำงานที่อิตาลี ได้มีการสร้างสรรค์เครื่องประดับจากหินสีและอัญมณี จนทำให้เกิด BVLGARI แบรนด์อัญมณีที่เชิดหน้าชูตาให้กับอิตาลี หรือแบรนด์อื่นๆ เช่น Chanel เริ่มต้นจากเรื่องราวของหญิงสาวฝรั่งเศสที่ชื่อ Coco Chanel แบรนด์ Dior ที่เริ่มมาจากชายชาวฝรั่งเศสที่เป็นนักออกแบบผ้าอย่าง Christian Dior ก็จะมีเรื่องราวบุคคลนั้นๆที่เป็นการเพิ่มคุณค่าเข้าไปให้กับแบรนด์ จนทำให้สินค้าของเขาได้รับความนิยมและมี Loyal Customers เหนียวแน่นจวบจนทุกวันนี้

การทำธุรกิจในช่วงที่โลกเข้าสู่ยุคออนไลน์ ที่มีปริมาณคอนเทนต์เกิดขึ้นอย่างมหาศาลทุกวัน การแข่งขันกันนั้น แค่กลยุทธ์ของสงครามราคาที่ลดราคาให้ต่ำกว่าเจ้าอื่นๆเพื่อเพิ่มโอกาสในการขายนั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไป แต่การทำการตลาด สร้างความสนใจให้ทุกคน ด้วยการใช้ศาสตร์ของ Storytelling จะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ เป็นแต้มต่อที่สำคัญสำหรับการปั้นแบรนด์ของธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในยุคสมัยนี้
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 เม.ย. 2566 เวลา : 19:42:20
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 9:53 pm