การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรม สบส. จับมือ จุฬาฯ พัฒนาหลักสูตร Lifelong Learning สร้างบุคลากรคุณภาพ รองรับธุรกิจอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข จับมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือพัฒนาหลักสูตร Lifelong Learning ด้านสุขภาพและการแพทย์ มุ่งสร้างบุคลากรคุณภาพ รองรับการขยายตัวของธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และบริการสุขภาพครบวงจร

 
บ่ายวันนี้ (3 พฤษภาคม 2566) ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. พร้อมด้วย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนาม “บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาหลักสูตร Lifelong Learning ด้านสุขภาพและการแพทย์ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข” โดยมี ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. และ รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย เป็นพยาน

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพและการแพทย์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการบริการทางการแพทย์ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและทำให้มีสุขภาวะ และอายุขัยเฉลี่ยไปในทางที่ดีขึ้น หลักสำคัญในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพและการแพทย์ของไทยให้เกิดความก้าวหน้า สามารถขับเคลื่อนธุรกิจด้านสุขภาพของไทยให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับในระดับสากล คือ การผลักดันและส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้เพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยที่ผ่านมา กรม สบส. ได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของบุคลากร ในวันนี้ กรม สบส.จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาหลักสูตร Lifelong Learning ด้านสุขภาพและการแพทย์ ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันของ 2 หน่วยงาน เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ เพิ่มทักษะและทบทวนทักษะ(Upskill and Reskill) รวมถึงการประยุกต์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพและการแพทย์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต โดยในเบื้องต้นจะร่วมกันดำเนินโครงการอบรมระยะสั้น ได้แก่ 1)โครงการอบรมระยะสั้นสำหรับผู้บริหารองค์กร หลักสูตร “The Longevity and Health for Wealth” 2)โครงการอบรมระยะสั้นสำหรับภาคธุรกิจและประชาชนผู้สนใจทั่วไป เรื่อง “Healthcare Innovative Service Bootcamp” และ3)โครงการอบรมระยะสั้นสำหรับภาคธุรกิจและประชาชนผู้สนใจทั่วไป หลักสูตร “Nutrition Academy Thailand”

 
รวมทั้งพัฒนาต่อยอดด้านการวิจัย การจัดการความรู้ และการพัฒนานวัตกรรมทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากการทำโครงการดังกล่าวข้างต้น โดยตั้งเป้าให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสุขภาพ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และบริการสุขภาพครบวงจร ซึ่งจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตต่อไปในอนาคต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 พ.ค. 2566 เวลา : 18:35:42
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 3:05 am