การค้า-อุตสาหกรรม
อันตราย!! เขียงหมู - ผู้บริโภค ระวังหมูเถื่อนคุณภาพต่ำระบาดเกลื่อน จากห้องเย็นเร่งระบายหนีจับกุม


 
ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม เป็นต้นมา ผู้เลี้ยงหมูไทยได้รับผลกระทบหนักจากราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากสิ้นเดือนเมษายน 2566 ราคาอยู่ที่ 84-88 บาทต่อกิโลกรัม วันนี้ลงไปแตะ 72-79 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 100.70 บาท ขาดทุนเกือบ 30 บาทต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มที่ราคาจะอ่อนตัวต่อ แต่ราคาที่ไหลลงนี้ไม่ได้มีสาเหตุหลักมาจากอุปสงค์-อุปทาน ตามกลไกตลาดในประเทศ หากมาจากปัจจัย “หมูเถื่อน” จากภายนอกประเทศที่คาราคาซังภาครัฐปราบปรามเท่าไรก็ไม่สิ้นซาก

ตั้งแต่ปี 2565 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ส่งสัญญาณให้กับภาครัฐมาตลอดปีว่า “หมูเถื่อน” จำนวนมากลักลอบเข้าประเทศมาผ่านท่าเรือแหลมฉบังมีมากกว่า 100 ตู้ และการเปิดตู้สินค้าตกค้างมานานกว่า 7-8 เดือน ที่ท่าเรือดังกล่าวของกรมศุลกากรเมื่อเดือนเมษายน 2566 จาก 200 ตู้ พบหมูเถื่อนถึง 161 ตู้ น้ำหนักรวม 4.5 ล้านกิโลกรัม ยิ่งเป็นการตอกย้ำประสิทธิภาพการทำงานด้านการตรวจปล่อยสินค้าของภาครัฐผู้รับผิดชอบ และมั่นใจได้ว่ายังมีหมูเถื่อนจำนวนมากที่ “ล่องหน” ออกมานอกท่าเรือด้วย “วิธีพิเศษ” ปราศจากการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยสั่งการณ์ไว้แล้ว

หมูเถื่อนที่เล็ดลอดออกมาได้ ไปอยู่ที่ไหน?.. สันนิษฐานว่าถูกนำไปซุกซ่อนไว้ตามห้องเย็นในจังหวัดต่าง เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม สระแก้ว สงขลา มุกดาหารและขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยตรวจพบชิ้นส่วนหมูเถื่อนจำนวนมากแล้วทั้งสิ้น และบางจังหวัดที่ชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้านยังพบการลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” ด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าหมูเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านนั้นเป็นการ Re-export จากประเทศไทย เนื่องจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจและทหารมีการตรวจตราเข้มงวดมากขึ้น

 
วันนี้ ห้องเย็นที่ซุกซ่อนหมูผิดกฎหมายไว้จำเป็นต้องเร่งระบาย “ของกลาง” มาสู่ตลาดเพื่อทำลายหลักฐาน เพราะเมื่อเข้าสู่ตลาดแล้วแยกแทบไม่ออกว่าเป็นหมูไทยหรือหมูเถื่อน ทำให้อุปทานในตลาดช่วงนี้มีมาก อำนาจต่อรองจึงไปตกกับพ่อค้าคนกลาง ยิ่งกดราคารับซื้อหมูหน้าฟาร์มเพราะตัวเลือกเป็นหมูเถื่อนที่สนนราคาต่ำมากช่วงนี้เพื่อหนีการกวาดล้างและจับกุม เมื่อเทียบต้นทุนหมูเถื่อนจากบราซิล (ที่ถูกจับกุมได้เป็นส่วนใหญ่) หมูมีชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ส่วนหมูเถื่อนจากยุโรปเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 55-60 บาทต่อกิโลกรัม

สำคัญที่สุด คือ สุขภาพของผู้บริโภค เพราะหมูเถื่อนไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ และที่ขายราคาต่ำขนาดนี้ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ไว้ว่า มีโอกาสที่จะเป็นหมูติดโรคระบาด ASF หรือโรคระบาดอื่นๆ หรือ เป็นชิ้นส่วนที่ประเทศต้นทางไม่นิยมบริโภค หรือพบสารปนเปื้อน โดยเฉพาะสารเร่งเนื้อแดง ที่เป็นปัจจัยกระตุ้น “โรคมะเร็ง” ซึ่งประเทศไทยสั่งห้ามใช้มานานมาก ย่อมเป็นผลร้ายต่อผู้บริโภคเนื่องจากไม่สามารถแยกได้เมื่อขายปะปนกันบนเขียงหมูในตลาดสดหรือร้านหมูกระทะ

 
หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน การท่าเรือแห่งประเทศไทย (เจ้าภาพโครงการท่าเรือสีขาว) ต้องผนึกกำลังกันตรวจสอบแบบไม่อ่อนข้อตั้งแต่ต้นทางสินค้านำเข้ามาในราชอาณาจักร ใช้กฎหมายที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ เมื่อของผิดกฎหมายต้องสำแดงก็ไม่ควรมีข้ออ้างว่าสำแดงเท็จ เพราะเป็นหน้าที่ของพวกท่านที่ต้องตรวจสอบ หรือหากหลุดรอด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สามารถใช้กฎหมายในการตรวจสต๊อกป้องกันการกักตุนสินค้าได้ ซึ่งครั้งนี้ควรใช้อำนาจตรวจสอบห้องเย็นว่ามีการซุกซ่อนสินค้าผิดกฎหมายเพื่อหวังผลในการเก็งกำไรราคาจากส่วนต่างได้โดยชอบธรรม แม้ช่วงนี้จะเป็น “สูญญากาศ” ทางการเมือง แต่ท่านทั้งหลายไม่ควรละเลยต่อหน้าที่ในฐานะ “ข้าราชการ” ผู้ต้องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของประเทศและคนไทยชาติ ในเวลาเดียวกันต้องปราบปราม “เหล่าร้าย” และ “มิจฉาชีพ” ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด และดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นสูงสุด เพื่อนำความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจสู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน./ 
 
 
แทนขวัญ มั่นธรรมะ นักวิชาการอิสระ
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 พ.ค. 2566 เวลา : 18:46:47
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 3:50 am