การค้า-อุตสาหกรรม
'จุรินทร์' ลั่นระฆัง! นับหนึ่ง FTA ไทย - สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) สร้างแต้มต่อให้ 'สินค้า - บริการ - ลงทุน' ไทย คาดหลังสำเร็จ สร้างเงินทันทีปีแรก 70,000 ล้านบาท


นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังการประชุมหารือกับ ดร.ธานี บินอาเหม็ด อัลเซ ยูดี (H.E. Dr. Thani bin Ahmed Al Zeyoudi) รัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รับผิดชอบด้านการค้าต่างประเทศ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ โรงแรมเรเนซองส์ จังหวัดภูเก็ต

 
นายจุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อสักครู่เป็นการประกาศครั้งประวัติศาสตร์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) นับหนึ่งเปิดเจรจาจัดทำเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทุกอย่างดำเนินการอย่างรวดเร็วเป็นอย่างยิ่ง นับจากการที่ตนนำคณะผู้แทนกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน เยือนยูเออี เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จากนั้นเพียง 3 เดือน สามารถประกาศเริ่มการเจรจาจัดทำเอฟทีเอระหว่างกันหรือเรียกว่า CEPA ซึ่งจะเริ่มต้นการเจรจาในวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2566 โดยยูเออีเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเป็นครั้งแรกที่ดูไบ ทั้งนี้ ตนมอบหมายให้อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำคณะไปเจรจา โดยตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย เอฟทีเอระหว่างไทยกับยูเออีจะถือว่า เป็นเอฟทีเอฉบับประวัติศาสตร์ฉบับหนึ่งที่สามารถทำได้เร็วที่สุด คาดว่า จนเสร็จใช้เวลาเพียง 9 เดือน ถ้าฉบับนี้ ประสบความสำเร็จจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเศรษฐกิจการค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ ประการที่หนึ่ง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย คือ สามารถใช้ยูเออีเป็นประตูส่งสินค้าและบริการไปยังอีก 5 ประเทศ สมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ หรือ GCC ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน กาตาร์ และคูเวต โดยอัตโนมัติ ประการที่สอง จะช่วยเพิ่มตัวเลขการส่งออกที่ไทยจะส่งออกไปยังยูเออีคาดว่าจะสูงขึ้นมาก มูลค่าการค้าปี 2565 ระหว่างไทยกับยูเออีประมาณ 730,000 ล้านบาท ตัวเลขการส่งออกไทยไปยูเออี ปี 2565 มีมูลค่า 119,000 ล้านบาท คาดว่า จากการทำเอฟทีเอแล้ว จะเพิ่มมูลค่าการค้าไม่ต่ำกว่า 10% ทันที (70,0000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี) หรืออาจมากกว่านั้น

 
สำหรับสินค้าจะได้รับประโยชน์ทันที อาทิ อาหาร อาหารทะเลกระป๋อง อาหารทะเลแปรรูป สิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ แอร์คอนดิชันเนอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ส่วนภาคบริการไทยจะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ต่อไปในอนาคต นอกจากจะได้แต้มต่อในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางอีก 5 ประเทศสมาชิก GCC แล้ว จะถือเป็นเอฟทีเอฉบับแรกของไทยที่ทำกับประเทศในตะวันออกกลาง ถือเป็นฉบับที่ 15 ของไทย กับ 19 ประเทศ และถ้าเอฟทีเอไทยกับสหภาพยุโรปเสร็จสิ้น จะมีผลให้มีเอฟทีเอเพิ่มเป็น 16 ฉบับ กับ 46 ประเทศ

“ถือเป็นเอฟทีเอฉบับก่อนการเลือกตั้งและกระทรวงพาณิชย์ช่วยกันทำงานหนัก เพื่อประโยชน์ของประเทศ ทำกันจนนาทีสุดท้ายเพื่อประโยชน์ของการค้าการลงทุนเศรษฐกิจของประเทศเรา” นายจุรินทร์ กล่าว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 พ.ค. 2566 เวลา : 18:22:15
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 1:35 am