หุ้นทอง
48 ปี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ตลาดทุนนับเป็นกลไกสำคัญในระบบเศรษฐกิจ ในการรวบรวมและจัดสรรการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้กิจการต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ช่วยให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการออมการลงทุน และการสะสมความมั่งคั่ง ในช่วงเกือบห้าทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะภายหลัง วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา โดยมีสัดส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ต่อ GDP ที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง และสูงถึง 121% ในปี 2565 สะท้อนภาพรวมของพัฒนาการและความสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ต่อระบบเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น


ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและได้เติบโตขึ้นในหลายๆ มิติ อาทิเช่น ขนาดของตลาดโดยรวม สภาพคล่องการซื้อขาย ปริมาณการระดมทุน การขยายฐานนักลงทุนที่หลากหลาย รวมทั้งความโดดเด่นและได้รับการยอมรับในเรื่องความยั่งยืน เป็นต้น 
 
 
ภาพที่ 1 : ตลาดหลักทรัพย์มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
 
 

ในปี 2565 ขนาดของตลาดหุ้นไทยซึ่งวัดโดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของ SET และ mai มีมูลค่าอยู่ที่ 20.93 ล้านล้านบาท โดยเติบโตเฉลี่ยปีละ 19.22% (CAGR) นับตั้งแต่มีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ SET Index ก็ได้มีการเคลื่อนไหวและพัฒนาไปตามสภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศและอยู่ที่ 1668.66 ณ สิ้นปี 2565 โดยเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.56% (CAGR) ทั้งนี้หากพิจารณาถึงผลตอบแทนรวมหรือ Total Return ของ SET Index นับตั้งแต่ปี 2545 ก็มีการเติบโตได้ปีละ 12.08% (CAGR) อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีสภาพคล่องในการซื้อขายสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 โดยในปี 2565 มีมูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ย 76,773 ล้านบาทต่อวัน โดยเติบโตเฉลี่ยปีละ 23.30% (CAGR) 
 
ภาพที่ 2 : มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน และความเคลื่อนไหวของ
SET Index และ SET Total Return Index
 

ในด้านการลงทุนและฐานนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีแนวโน้มเติบโตและมีมูลค่าการซื้อขายที่กระจายตัวในหลายกลุ่มผู้ลงทุน โดยการซื้อขายหลักทรัพย์รวมของ SET และ mai แยกตามประเภทผู้ลงทุนในปี 2565 ประกอบด้วย (1) ผู้ลงทุนบุคคลในประเทศมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 29,957 ล้านบาท คิดเป็น 39.02% ของมูลค่าการซื้อขายรวม (2) ผู้ลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 34,978 ล้านบาท คิดเป็น 45.56% (3) ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 5,723 ล้านบาท คิดเป็น 7.45% และ (4) บัญชีบริษัทหลักทรัพย์มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 6,115 ล้านบาท คิดเป็น 7.96% ในด้านฐาน ผู้ลงทุน ทั้งนี้จำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ยังคงเพิ่มขึ้นและทำสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ณ สิ้นปี 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,848,429 บัญชี เพิ่มขึ้น 12.01% จากสิ้นปี 2564 และมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตของผู้ลงทุนบุคคลเฉลี่ยทั้งปี 2565 อยู่ที่ 78.08% ของมูลค่าการซื้อขายรวมของผู้ลงทุนบุคคล สะท้อนภาพการพัฒนากระบวนการ Digitalization ในตลาดทุน และช่วยส่งเสริมสภาพคล่องในการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ 
 
ภาพที่ 3 : ฐานนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
 

ผลิตภัณฑ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับการพัฒนาและมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ เปิดโอกาสและเชื่อมโยงการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ในปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ซึ่งรวมถึง DRx หรือ Fractional Depository Receipt อ้างอิงกับหลักทรัพย์ในตลาดต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสในการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนจำนวนไม่มาก ในการกระจายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange: TDX) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการระดมทุนและซื้อขายโทเคนดิจิทัลทั้ง Investment Token และ Utility Token รวมทั้งได้มีการพัฒนาและส่งเสริมความรู้ด้านการเงินและการลงทุน ซึ่งจะช่วยรองรับการเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยคำนึงถึงเนื้อหาที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในรูปแบบทั้งออนไลน์และออนไซต์ ผ่านแผนงานและโครงการต่างๆ

ในด้านการระดมทุน ตลาดทุนเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของภาคธุรกิจ ซึ่งการระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เป็นช่องทางการระดมทุนของธุรกิจขนาดต่างๆ จากหลากหลายอุตสาหกรรม สนับสนุนการเติบโตของกิจการ เป็นทางเลือกสำหรับการระดมทุน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ และเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย โดยมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่าการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง (IPO + SO) ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการระดมทุนรวมสูงถึง 1.58 ล้านล้านบาท โดยในปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีมููลค่าการเสนอขายหลักทรัพย์ IPO ที่ 127,836 ล้านบาท สูงที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย โดยมีบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจใหม่ๆ (New Economy) ซึ่งได้ช่วยเสริมสร้างความหลากหลายให้กับตลาดทุน ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 810 บริษัท นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้บริการตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ซึ่งในปี 2565 ได้มีการระดมทุนและเข้าจดทะเบียนไปแล้ว 3 บริษัท มูลค่าระดมทุนรวม 196 ล้านบาท 
 
ภาพที่ 4 : มูลค่าระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดแรกและตลาดรอง (IPO + SO)
และจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
 

บริษัทจดทะเบียนไทยได้รับการยอมรับและเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับสากล โดยมีจำนวนบริษัทไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปในดัชนีด้านความยั่งยืนระดับสากลเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และได้รับคัดเลือกจำนวนสูงที่สุดในอาเซียนหลายปีซ้อน ในปีที่แล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เริ่มเปิดตัวบริการ ESG Data Platform ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศน์การลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืนและปัจจัยด้าน ESG อันประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ผ่านระบบจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อให้ทุกภาคส่วนในตลาดทุนมีข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน และสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายต่อไป

ภาพที่ 5 : บริษัทจดทะเบียนไทยในดัชนีความยั่งยืนระดับสากล
 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มุ่งยกระดับประสิทธิภาพของตลาดทุนผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนไทย เช่น ระบบ FINNET สำหรับการชำระเงินของตลาดทุน, ระบบ SET Link เพื่อให้บริการบริษัทจดทะเบียนแบบ End-to-End Process ซึ่งรวมถึง

การเปิดเผยข้อมูลและงานด้านนายทะเบียน, ระบบงาน Digital Platform เช่น FundConnext สำหรับการรับส่งข้อมูลการซื้อขายและชำระราคากองทุนรวม และ e-Services ต่างๆ (e-Onboarding, e-Meeting, e-Voting, e-Stamp Duty เป็นต้น) และได้พัฒนาระบบซื้อขายใหม่ (New Trading System) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบนิเวศการลงทุน และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ

ภาพที่ 6 : ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ / บริการ และระบบซื้อขายหลักทรัพย์
 

ที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยมักปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงและฟื้นตัวจากสถานการณ์ต่างๆ ได้ค่อนข้างดี รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สะท้อนภาพการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดและความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เริ่มส่งสัญญาณการเปลี่ยนทิศทางในหลายๆ ประเด็นสำคัญ และหลายปัจจัยก็กำลังมีพัฒนาการและยังอาจเป็นความท้าทายในตลาดทุนที่จะส่งผลไปอย่างต่อเนื่อง เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ความยั่งยืนกับการทำธุรกิจโดยเฉพาะในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเมืองภายในและระหว่างประเทศ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม และภาวะสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น นำไปสู่การเตรียมตัวและการจัดการกับโอกาสและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในเศรษฐกิจและตลาดทุนในระยะถัดไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 พ.ค. 2566 เวลา : 17:13:01
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 10:21 pm