การค้า-อุตสาหกรรม
'ไทย - ชิลี' ถกเข้ม เร่งติดตามการดำเนินงานภายใต้ความตกลง TCFTA


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลการประชุมคณะกรรมาธิการการค้าเสรีไทย-ชิลี ครั้งที่ 4 ภายใต้ความตกลง TCFTA เร่งติดตามการปรับโอนพิกัดศุลกากร (PSRs) คาดแล้วเสร็จช่วงครึ่งปีหลัง การอำนวยความสะดวกกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ผลักดันด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ชี้! 8 ปีที่ผ่านมา TCFTA ช่วยขยายมูลค่าการค้ามากกว่า 40% หนุนผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ความตกลงฯ จากอัตราภาษีที่ลดลงเป็นศูนย์แล้ว

 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการการค้าเสรีไทย-ชิลี (FTC) ครั้งที่ 4 ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี (Thailand-Chile Free Trade Agreement: TCFTA) ในฐานะประธานร่วมฝ่ายไทย โดยมีผู้แทนกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของชิลี (นายปาโบล เออร์เรียร์) เป็นประธานร่วมฝ่ายชิลี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินงานภายใต้ FTA ไทย-ชิลี ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่ง FTA ฉบับนี้มีประโยชน์กับผู้ประกอบการของไทยและชิลีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการขยายมูลค่าการค้าของทั้งสองฝ่าย จากเดิมที่มีมูลค่าการค้า 894.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558 เป็น 1,289.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 หรือขยายตัวเพิ่มมากกว่า 40%

 
นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเสริมว่า การประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ติดตามการดำเนินงานภายใต้พันธกรณีของ TCFTA โดยไทยและชิลีอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (PSRs) จากระบบ HS2012 เป็น HS2022 เพื่อให้สอดคล้องกับพิกัดสินค้าที่ใช้ในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์และเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ภายในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับการใช้ลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature and Seal: ESS) สำหรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รวมทั้งแนวทางการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบไฟล์ PDF เพื่อให้ผู้นำเข้าสามารถพิมพ์และจัดส่งให้กับหน่วยงานด้านศุลกากรประกอบพิธีการออกสินค้าเมื่อไปถึงท่าเรือปลายทาง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ

 
นายรัชวิชญ์ เพิ่มเติมว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะร่วมกันผลักดันประเด็นด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในรายการสินค้าที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อมูลสถิติการค้าและการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ TCFTA เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์และร่วมกันพัฒนาความตกลงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลง TCFTA ไทยและชิลียังได้เริ่มบังคับใช้จรรยาบรรณในการระงับข้อพิพาท (Code of Conduct) ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมกฎเกณฑ์ในกระบวนการระงับข้อพิพาทภายใต้ความตกลงดังกล่าวให้มีความชัดเจนและเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทั้งสองฝ่ายจะยึดถือปฏิบัติร่วมกัน

 
สำหรับในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับชิลี มีมูลค่า 1,289.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 9.50% โดยไทยส่งออกไปชิลีมูลค่า 531.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้า 15.19% และไทยนำเข้าสินค้าจากชิลีมูลค่า 758.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 37.50% ซึ่งการส่งออกที่ใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ TCFTA มีสัดส่วนสูงถึง 114.79% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4.02% โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถบรรทุก รถยนต์ ปลาทูน่า เครื่องซักผ้า เครื่องเพชรพลอย สำหรับการนำเข้าภายใต้ TCFTA ของไทย มีสัดส่วน 87.82% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.17% สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ แอปริคอต เชอร์รี ท้อ ไวน์ ไขมันและน้ำมันจากปลา กุ้งและปู ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา อัตราภาษีของสองประเทศภายใต้ความตกลงฯ ได้ลดลงเป็นศูนย์หมดทุกรายการแล้ว จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการที่จะขยายการค้าและสร้างความได้เปรียบในการนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นในการผลิตร่วมกัน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 พ.ค. 2566 เวลา : 12:27:45
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 7:12 am