การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
Special Report : แนวคิด "ESG" รักษ์โลก ดูแลสังคม ส่งเสริมคุณธรรม สำคัญอย่างไรต่อภาคธุรกิจ?


นับว่าในทุกวันนี้ โลกของเรากำลังเผชิญเข้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อมนานัปการ ไล่มาตั้งแต่การเกิดสภาวะโลกร้อนจากปัญหา Greenhouse Effect ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศทั่วทั้งโลก อย่างการเพิ่มของระดับน้ำทะเลส่งผลต่อการกัดเซาะชายฝั่ง ชายฝั่งหาย น้ำท่วมมากขึ้น และทิศทางลมหรือฤดูกาลที่มีการเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงกระแสน้ำที่เปลี่ยนทิศ เป็นต้นเหตุให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อๆกันจนเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญกันอยู่

ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ส่งผลให้คนในสังคมเริ่มมีการตระหนักรู้ (Awareness) และมีการปรับเปลี่ยน Lifestyle วิถีชีวิตโดยรวมเท่าที่จะทำได้เพื่อลดปัญหาและรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น โดย Lifestyle ของผู้คนที่ผูกโยงเข้ากับการบริโภคในชีวิตประจำวันอยู่แล้วนั้น พวกเขาจึงเริ่มคาดหวังและมองหาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เรื่องของการรักษ์โลก ที่ครอบคลุมตั้งแต่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือสังคม รวมถึงการยึดหลักของคุณธรรมและจริยธรรมที่สังคมยอมรับ ทำให้ปัจจุบันภาคธุรกิจต่างๆ จึงได้มีการนำแนวคิด ESG เข้ามาเป็นเป็นเป้าหมายหลักในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นการยึดถือคุณค่าร่วมกันกับคนในสังคมกระแสหลัก อีกทั้ง ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจพฤติกรรมและมุมมองของผู้บริโภคมีต่อปัญหาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มการลงทุนด้าน ESG พบว่า ความน่าเชื่อถือ และผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมด้านการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคพิจารณาเพื่อซื้อสินค้าประเภทเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

โดยแนวคิด ESG ที่ย่อมาจาก Environment, Social and Governance เป็นลักษณะของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล ทั้งที่เกิดจากการดำเนินการตามข้อกำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแล และจากกระแสดังกล่าวที่เรียกร้องให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินการของกิจการ ซึ่งแนวคิด ESG นี้ ช่วยให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบต่อ Stakeholders ผู้ที่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจที่ทำ และการแสดงผลลัพธ์การดำเนินกิจการในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

โดยการประกอบธุรกิจที่เรียกได้ว่าตรงกับหลักแนวคิดของ ESG ก็มีตั้งแต่การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกมาเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ การใช้วัตถุดิบที่ไม่เบียดเบียนโลกอย่างการเกิดอาหารแบบ Plant Based ขึ้นมาขายในท้องตลาดเพื่อเป็นทางเลือกในการลดการกินเนื้อสัตว์ การปรับเปลี่ยน Supply Chain หรือสายการผลิตสินค้าที่จ้างบุคลากรในพื้นที่มากขึ้น หรือนำเอาวัตถุดิบจากเกษตรกรของชุมชนเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพและช่วยเหลือสังคม เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้ เป็นส่วนๆหนึ่งของภาคการดำเนินธุรกิจที่เป็นรูปธรรม จากวิสัยทัศน์ หรือแกนหลักที่บริษัทยึดถือในเรื่องของแนวคิด ESG กล่าวคือ ภาคธุรกิจต่างๆที่ตั้งมั่นแล้วว่าจะยึดแนวคิด ESG ในการดำเนินธุรกิจ บริษัทเหล่านั้นก็จะนำแนวคิดที่ยึดโยงในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มามีส่วนในทุกๆอณูของบริษัท เช่น การคิด ตัดสินใจ ลงมือปฏิบัติ การจัดการวัฒนธรรมองค์กร และอื่นๆโดยรวม

และนอกจากกลุ่มผู้บริโภคที่มี Awareness เรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น ฝั่งของการเงินการลงทุน ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ ก็ตอบรับแนวคิด ESG เช่นเดียวกัน อย่างการระดมทุนผ่าน Green Bond ตราสารหนี้ที่ผู้ออก เปิดขายเพื่อระดมเงินเอาไปลงทุนในโครงการหรือกิจกรรมด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้ถือได้ว่าเป็นเทรนด์หลักในโลกของการลงทุนเลยทีเดียว อย่างในประเทศไทยเอง เช่น Exim Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ก็เคยเปิดขาย Green Bond เมื่อปีที่แล้วมูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท เพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนสินเชื่อให้แก่โครงการพลังงานสะอาด Renewable Energy และธุรกิจ Recycle และทางตลาดหลักทรัพย์เอง ก็มีการส่งเสริมในเรื่องของสินเชื่อ และธุรกิจต่างๆในการสร้าง Green Finance ซึ่งในต้นปี 2566 มานี้ ประเทศไทยมีการออก Green Bond ไปแล้วกว่า 8,000 ล้านบาท และปี 2565 มีการเติบโตของ Green Bond เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวที่ 42,019 ล้านบาท จาก 28,706 ล้านบาทในปีก่อนหน้า

จากข้อมูลดังกล่าว แปลตรงตัวได้ว่าธุรกิจที่ยึดแนวคิดของ ESG มีโอกาสที่จะได้รับเงินทุนสนับสนุน สามารถขอสินเชื่อผ่าน รวมถึงการมีภาพลักษณ์องค์กรที่ดี ที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคกลายเป็น Loyal Customer ได้ จากที่ทุกภาคส่วนต่างมีความตระหนักและคาดหวังต่อเรื่องของการรักษาสังคม สิ่งแวด ล้อม และธรรมาภิบาล หรือก็คือแนวคิดของ ESG นั่นเอง ซึ่งกำลังก่อตัวขึ้นไปยังทั่วโลก รวมถึงเข้ามามีบทบาทกับประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน เพราะไทยเองได้ประกาศเจตนารมณ์ในการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี 2608 โดยกำลังกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนมากขึ้นให้ขอบเขตของกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นมาตร ฐานสากลเพื่อให้ทุกภาคส่วน อาทิ ภาคการเงิน ภาครัฐ และภาคเอกชน นำไปใช้อ้างอิงในกระบวนการทำงานที่เชื่อมโยงกัน โดยในปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำ Thailand Taxonomy ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรฐานกลางในการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและสอดคล้องกับบริบททางสังคมและเศรษฐกิจของไทย ซึ่งมีการจัดทำเป็นระยะๆ ไป โดยระยะแรกสำหรับภาคพลังงานและภาคขนส่งก่อน ภาคผลิต ภาคเกษตร และภาคอื่นๆ จะเป็นระยะต่อไป ซึ่งคาดว่าจะทยอยดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2566

จะเห็นได้ว่า ในตอนนี้ถนนทุกสายต่างมุ่งเข้าสู่เรื่องของ ESG ซึ่งสภาพแวดล้อมโดยรวมรอบตัวก็ต่างคาดหวังให้บริษัทต่างๆดำเนินธุรกิจด้วยการยืนหยัดในเรื่องดังกล่าว ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ในอนาคตเราจะเห็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จด้วยการยึดหลักของ ESG และแนวคิดนี้ก็จะกลายเป็นเทรนด์กระแสหลักที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนใหญ่ในภาคเศรษฐกิจอย่างมั่นคง
 

LastUpdate 26/06/2566 09:34:02 โดย : Admin
06-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 6, 2024, 6:47 am