ซีเอสอาร์-เอชอาร์
กสิกรไทยเดินหน้าเปลี่ยนอาคารหลัก เป็น Zero Waste to Landfill ของเสียจากอาคารหลักไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ ภายในปี 2566 นี้


 

กสิกรไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานภายในองค์กรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติ พร้อมปักธง 4 อาคารหลัก มีของเสียไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) ภายในปี 2566 นี้ เดินหน้าโครงการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รณรงค์สร้างการรับรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมพนักงานภายในองค์กร ควบคู่กับการออกแคมเปญออนไลน์สำหรับบุคคลทั่วไปร่วมสนุกผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของ KBank Live ตลอดเดือนมิถุนายน มุ่งหวังเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยสร้างความเข้าใจและการลงมือปฏิบัติจริงให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมไปด้วยกัน

 
นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ภาวะโลกรวน (Climate Change) ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก  ธนาคารกสิกรไทยตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในเรื่องนี้ โดยได้ประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อสนับสนุนความพยายามของประชาคมโลกในการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ 
 
 
 
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ธนาคารวางไว้ คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จากการดำเนินงานของธนาคารภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) โดยธนาคารได้เดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง อาทิ การใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้รถยนต์ไฟฟ้า การใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ การวางแผนปรับเปลี่ยนวัสดุในการทำงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้การปล่อยคาร์บอนลดลงให้ได้มากที่สุด ควบคู่กับการส่งเสริมบุคลากรและทุกภาคส่วนให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกิดพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมบนหลักปฏิบัติที่ถูกต้องและยั่งยืน 
 
 
ภารกิจสำคัญอีกประการ คือ การจัดการขยะที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจกรรมในธุรกิจธนาคารโดยเฉพาะอาคารหลัก 4 แห่งของธนาคาร ได้แก่ สำนักงานใหญ่พหลโยธิน อาคารราษฎร์บูรณะ อาคารแจ้งวัฒนะ และอาคาร KBTG ซึ่งมีพนักงานหมุนเวียนใช้งาน รวมประมาณกว่า 8,000 คน ดังนั้น การลดการสร้างขยะและการแยกขยะให้ถูกวิธีตั้งแต่ต้นทางจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเป้าหมายสูงสุด คือ การทำให้ของเสียจากอาคารไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) ในที่สุด ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้นำร่องดำเนินการเรื่องนี้ ตั้งแต่ปี 2565 ที่อาคาร KLOUD by KBank ต้นแบบพื้นที่ “กรีน” แห่งแรกในสยามสแควร์ ซึ่งเปิดให้บริการแก่ลูกค้าและบุคคลทั่วไป มีการใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 100 จากแหล่งหมุนเวียน และนับเป็นอาคารแรกของธนาคารที่มีระบบการจัดการโดยลดปริมาณของเสียไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) 
 
 
 
เพื่อขับเคลื่อนการจัดการขยะให้เกิดผลลัพธ์อย่างยั่งยืน ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายการจัดการขยะในอาคารสำนักงานหลักไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ สำหรับ 4 อาคาร ภายในปี 2566 นี้ โดยเดินหน้าติดตั้งถังขยะ 6 ประเภท เพื่อคัดแยกขยะ 6 ชนิด ได้แก่ เศษอาหาร วัสดุรีไซเคิล ขยะเผาเป็นพลังงาน ขยะปนเปื้อน ขยะอันตราย และขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกำหนดระบบการจัดการขยะของแต่ละถังอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมตามหลัก Zero Waste ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางสุดท้าย เพื่อให้เหลือของเสียไปสู่หลุมฝังกลบน้อยลงและเป็นศูนย์ในที่สุด ควบคู่กับการให้ความรู้แก่พนักงานตระหนักถึงความสำคัญ มีความเข้าใจ และกระตุ้นให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริง ผ่านแคมเปญสำหรับพนักงานในองค์กร “ทิ้งถูกไม่ถูกทิ้ง” ด้วย 3 ขั้นตอนง่าย ๆ “เท-แยก-ทิ้ง” โดยชวนพนักงานทั้งหมดมาเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมในการแยกขยะก่อนทิ้ง เน้นการให้ความรู้วิธีการแยกขยะและทิ้งให้ถูกถัง เพื่อให้ขยะไม่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่า สามารถนำไปจัดการต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างพฤติกรรมการทิ้งขยะให้ถูกต้อง 
 
 
 
 
นอกจากนี้ ธนาคารให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ลูกค้าและประชาชนเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ไปด้วยกัน ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการแยกขยะอย่างเป็นระบบด้วยการสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในวงกว้าง ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยจัดกิจกรรมแคมเปญออนไลน์ “แยกครั้งนี้...พี่ภูมิใจ” เชิญชวนบุคคลทั่วไปให้โพสต์ภาพวิธีการแยกขยะในแบบของตัวเอง พร้อมอธิบายว่าการแยกขยะจะช่วยโลกได้อย่างไร โดยมีผู้สนใจร่วมสนุกผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของ KBank Live อย่างต่อเนื่อง ตลอดเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นเดือนแห่งวันสิ่งแวดล้อมโลก ความเห็นที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับรางวัลเป็นถังขยะรีไซเคิลแบบกล่องกระดาษ จำนวน 300 รางวัล
 
 
 
 
นายกฤษณ์ กล่าวตอนท้ายว่า เดือนแห่งวันสิ่งแวดล้อมโลกเป็นหมุดหมายหนึ่งที่กระตุ้นเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ โดยธนาคารมุ่งมั่นในการดำเนินงานต่าง ๆ สู่ Net Zero อย่างต่อเนื่อง และมุ่งหวังให้แผนงานและแคมเปญสื่อสารของธนาคารที่เกิดขึ้นจะเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยสร้างความเข้าใจและการลงมือปฏิบัติจริงให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน นำไปสู่การปรับเปลี่ยนธุรกิจและไลฟ์สไตล์ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง เพื่อร่วมกันส่งมอบโลกที่ดีกว่าให้คนรุ่นต่อไป
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 มิ.ย. 2566 เวลา : 11:12:18
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 10:03 pm