การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
"สำนักงาน กกพ." จับมือ ทบ. สนับสนุนงบประมาณติดตั้ง "โซลาร์เซลล์" ให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก


สำนักงาน กกพ. มอบเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ากว่า 49.95 ล้านบาท ติดตั้ง “โซลาร์เซลล์” 1.66 เมกะวัตต์ ให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก จำนวน 16 แห่ง วางเป้าลดค่าไฟฟ้ากว่าปีละ 10 ล้านบาท

 
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ณ ห้องอุสาพดี สโมสรสรรพการ กรมยุทธโยธาทหารบก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และกองทัพบก (ทบ.) ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการดำเนินงานในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก (MoU) โดยนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. และกองทัพบก โดยพลตรีไวพจน์ พันธุ เจ้ากรมยุทธโยธาทหารบก ซึ่งมีนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พร้อมด้วย นางฤดี ภริงคาร รองเลขาธิการสำนักงาน กกพ. และพลตรีเกษม ภิญโญชนม์ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามฯ

 
ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กกพ. และกองทัพบก ในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับโรงพยาบาล ในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาล โดยในระยะที่ 1 สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างพิจารณาสนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก จำนวน 16 โรงพยาบาล งบประมาณรวม 49.95 ล้านบาท ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1.66 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 1,429 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และคาดว่าจะลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารบกได้ปีละ 10 ล้านบาท

 
นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา ประธานในพิธีกล่าวว่าในช่วงปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมานับเป็นช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่สำคัญในการดำเนินการตามแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภาย (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 ซึ่งประเทศไทยจะต้องเตรียมการรองรับการปรับตัว รวมถึงมาตรการระหว่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นมาตรการหนึ่งตามแผนพัฒนาการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งกำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 8,740 เมกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2580 ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กกพ. และกองทัพบก ในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จึงเป็นการดำเนินการที่มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

 
พลตรีไวพจน์ พันธุ เจ้ากรมยุทธโยธาทหารบก กล่าวว่า กองทัพบกนอกจากมีหน้าที่ต้องรักษาอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เพื่อดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐ แล้วยังมีภารกิจ ในการดูแลและให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน โดยกองทัพบก ได้เล็งเห็นความสำคัญถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประชาชน โดยได้ออกมาตรการที่สอดคล้องกับนโยบายประหยัดพลังงาน และการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือก เพื่อลดรายจ่ายด้านงบประมาณของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมากองทัพบกได้มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันมาจากกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การใช้พลังงานในอาคาร ภาคขนส่ง และการปฏิบัติงานของหน่วยทหาร เป็นต้น ซึ่งโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในประเภทอาคารที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูง และใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับให้บริการทางการแพทย์ แก่กำลังพล ครอบครัว และประชาชน ประกอบด้วย การส่งเสริมสุขภาพ และเวชกรรมป้องกันการบริการแพทย์ในที่ตั้ง และการบริการแพทย์ในสนาม โดยการส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นวิกฤติการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ตลอดจนการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชนของโรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารบกต่อไป
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 มิ.ย. 2566 เวลา : 12:49:03
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 5:07 am