แบงก์-นอนแบงก์
"กรุงศรี" ฟันธง กนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง 2 ส.ค. 0.25% เป็นกระสุนหากเศรษฐกิจซบเซา ใช้เป็นเครื่องมือ "ลดดอกเบี้ย" กระตุกศก.ได้


น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY มองทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในการประชุมล่าสุดที่จะมีขึ้นวันที่ 2 สิงหาคม 2566 อีก 1 ครั้ง ที่อัตรา 0.25% ไปสู่ระดับ 2.25% ทั้งๆที่ความจริงอัตราดอกเบี้ยของไทย ถือว่าใกล้สุดทางแล้วจากที่ผ่านมาก็ปรับขึ้นมาตลอดจนมาถึงระดับ 2.00% แต่เพื่อให้มีกระสุนในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคตจึงน่าจะจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือนโยบายการเงิน หากภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนหรือซบเซาลง ธปท.ก็ยังสามารถใช้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยมีพื้นที่ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาได้

“การลดอัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ เพราะเงินเฟ้อพื้นฐานยังกดลงได้ช้า แม้เงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ระดับค่อนข้างต่ำ แต่ธปท.มองว่าหากเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตแล้วยังค่อนข้างสูงอยู่ จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยของไทยยังทรงตัวอยู่ระดับสูงต่อไป นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่เป็นนโยบายประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย ล้วนอาจเป็นเหตุกระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้นได้อีก ฉะนั้นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 2 สิงหาคม นี้ ที่คาดว่า กนง.จะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% จะเป็นการสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินให้มีพื้นที่ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในอนาคต" น.ส.รุ่ง กล่าวย้ำ

 
น.ส.รุ่งยังฉายภาพถึงทิศทางค่าเงินบาทว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางแข็งค่า โดยไตรมาส 4 ปีนี้ มีโอกาสแข็งค่าแตะระดับ 32.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 33.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่บนสมมติฐานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ใกล้ยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว,เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว และภาคการท่องเที่ยวของไทยปรับตัวสูงขึ้นส่งผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยที่ดีขึ้น ขณะที่สภาวะการเมืองในประเทศไทยมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและสินทรัพย์สกุลเงินบาทมากขึ้น

 
“น่าเสียดายที่ผ่านมาช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ทำให้ประเทศไทยไม่ใช่หนึ่งในตัวเลือกการลงทุนของต่างชาติ ซึ่งตนมองว่าต้องมีปัจจัยที่ทำให้เราต้องมีเสน่ห์มากขึ้นในการดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่เชื่อว่าหากการเมืองนิ่งและมีความชัดเจน เงินทุนไหลเข้าอาจกลับมา ฉะนั้น Fund Flow ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่น”น.ส.รุ่ง กล่าว
 
สำหรับประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) ทางสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มอง GDP ของไทย ปี 2566 อยู่ที่ 3.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงที่เหลือของปีนี้ อยู่ที่ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ในช่วง 2021-2022 ที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยจนทำให้ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่หากจะให้จำนวนนักท่องเที่ยวกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด คาดว่าน่าจะเป็นภายในปี 2568

 
ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2566 ยังคงเป็นความไม่แน่นอนทางการเมือง ในประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ยังไม่มีความชัดเจน รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรีที่จะเข้ามาบริหารประเทศ หากตามกำหนดวันที่ 13 ก.ค.2566 ยังไม่สามารถเลือกตัวนายกรัฐมนตรีได้ ก็คงมีการเลือกในรอบต่อๆไปจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีที่จะเข้ามาบริหารประเทศ

“ฉะนั้นหากหลังวันที่ 13 ก.ค.ยังไม่ได้ผู้นำประเทศ นักลงทุนต่างชาติอาจขาดความมั่นใจ หรือหากได้ตัวนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็คงต้องมาดูและติดตามนโยบายทางเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป”น.ส.รุ่ง กล่าว

LastUpdate 07/07/2566 19:07:09 โดย : Admin
01-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 1, 2024, 12:03 pm