แบงก์-นอนแบงก์
ออมสินเตรียมเปิดตัว "บริษัท เงินดีดี" อย่างเป็นทางการปลายปีนี้ ดึงรายย่อยพ้นวงจรกู้นอกระบบ ลั่นนำธง กดดบ.ลง 3-5% สร้างอิมแพคให้เกิดขึ้นในระบบ


 

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non Bank) ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อจัดตั้ง บริษัท เงินดีดี จำกัด ปล่อยกู้ให้กับรายย่อยโดยเฉพาะระดับรากหญ้า ผ่านสินเชื่อ P loan และ Nono Finance ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าในตลาดถึง 3-5% จากปัจจุบันถูกคิดอัตราดอกเบี้ยสูงที่ระดับ 28-30%

โดยวงเงินปล่อยกู้จะปล่อยให้ได้ตั้งแต่ 8,000 บาท ถึงหลัก 100,000 บาทต่อราย เพื่อให้นำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ตั้งแต่กิจการขนาดเล็ก กิจการทั่วไป และร้านค้า

 
สำหรับเป้าหมายการปล่อยกู้รายย่อย หลังได้รับการอนุมัติจาก ธปท.ให้ดำเนินธุรกิจ Non Bank เบื้องต้นในระยะแรกวางเป้าไว้ที่ 2-3 แสนราย ซึ่งตลาดรายย่อยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ขนาดใหญ่มาก

“เราจะเข้าไปปรับโครงสร้างดอกเบี้ย ดึงรากหญ้าเข้ามากู้ในระบบ เพื่อให้ภาระดอกเบี้ยเขาลดลง รวมถึงการรับรีไฟแนนซ์ด้วยที่จะดึงลูกค้ากลุ่มไมโครเข้ามาให้มาก และบรรเทาปัญหาให้คนที่ย้ายมาอยู่กับเราได้ จากเดิมที่กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงจนจำเป็นต้องเข้าไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงมาก”นายวิทัยกล่าว

 
นายวิทัยกล่าวต่อไปว่า หลังจากนั้นมีแผนจะขยายภารกิจปล่อยกู้ผ่านระบบ Digital Lending เพื่อให้รายย่อยสามารถยื่นขอกู้ผ่านระบบออนไลน์ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้ออนไลน์ในชีวิตประจำวัน
 
และในช่วงรอยต่อของการจัดตั้งรัฐบาล ทางกระทรวงคลังได้เร่งให้แบงก์รัฐจัดเตรียมโครงการและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมานำเสนอแผนเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารออมสินได้จัดเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเสร็จเรียบร้อยแล้วเตรียมนำเสนอกระทรวงการคลัง ซึ่งหลักๆ จะเป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เติมทุนให้รายย่อย ให้มีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ และช่วยลดภาระดอกเบี้ยอีกทางทำให้มีเงินในมือไว้ใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งนี้รายละเอียดต้องรอทางกระทรวงการคลังเป็นผู้แถลงมาตรการพร้อมกับแบงก์รัฐทุกแห่ง ซึ่งคาดว่าจะในเร็วๆนี้ ทั้งนี้จะสอดคล้องกับมาตรการของ ธปท. ที่เตรียมแผนแก้ปัญหาหนี้ภาครัวเรือนร่วมกับสถาบันการเงิน หลังจากระบุว่า กลุ่มลูกหนี้เปราะบางสัดส่วนมากถึง 70% อยู่กับแบงก์รัฐ แต่สำหรับในส่วนของธนาคารออมสินมียอดลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่สูงมากนัก ณ สิ้น มิ.ย.66 มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ 2.63% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายควบคุมให้ไม่เกิน 2.95% โดยยอดหนี้ได้ลดลงต่อเนื่องจาก 1.2 ล้านราย เหลือ 8 แสนราย และปัจจุบันลดเหลือ 3.5 แสนราย  

 
“มาตรการแก้ปัญหาหนี้ ผมมองว่าจะต้องเป็นการตัดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ยอดหนี้รวมลดลงเร็วและหมดการเป็นหนี้เร็ว” นายวิทัยกล่าวและย้ำว่า การเป็นธนาคารเพื่อสังคม ไม่ได้มุ่งหวังกำไรมาก แต่มุ่งหวังเป็นธนาคารที่ช่วยเหลือสังคมช่วยคนรากหญ้าที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินที่ดอกเบี้ยถูกกว่า ออมสินจึงยอมกำไรน้อยลง เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือสังคม แต่อีกด้านเราก็พยายามลดต้นทุนการดำเนินงานค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ทำให้รายได้สุทธิไม่กระทบและส่งรายได้เข้ารัฐยังเป็นอันดับต้นๆของประเทศ โดยกำไรครึ่งปีแรกปีนี้  1.7 หมื่นพันล้าน ซึ่งสูงกว่าช่วงโควิด และเป็นกำไรที่กันสำรองไปแล้ว โดยกันสำรองรวม 1 แสนล้านบาท แต่คาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.06 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงฐานะการเงินที่มีความมั่นคงแข็งแกร่ง 
 
เพราะสิ่งที่ผมทำมาตลอด 3 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ผมต้องการทำให้อิมแพคเกิดขึ้น เช่น พยายามกดดอกเบี้ยให้ลงอยู่ในระดับที่พอเหมาะพอควร เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ อาทิ สินเชื่อจำนำรถจักรยานยนต์ ที่สามารถกดอัตราดอกเบี้ยลงได้ถึง 10% จาก 24-28% เหลือ 16-18%

LastUpdate 21/07/2566 19:09:06 โดย : Admin
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 2:41 am