การค้า-อุตสาหกรรม
'พาณิชย์' จับมือมาเลเซีย ส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ ฟื้นฟูเศรษฐกิจชายแดน หวังเพิ่มมูลค่าการค้า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 68


 

‘พาณิชย์’ หารือปลัดกระทรวงการค้าภายในและค่าครองชีพของมาเลเซีย จับมือส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ เล็งให้ผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้า สร้างโอกาสขยายพันธมิตรและจับคู่ธุรกิจ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจค้าชายแดน ทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกทางการค้า เตรียมหารือต่อยอดในเวที JTC ระดับรัฐมนตรี ช่วงปลายปีนี้ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าสองฝ่ายเป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 68

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายกีรติ รัชโน) ให้เข้าพบกับดาตุ๊ก อัซมัน บิน โมฮัมหมัด ยูโซฟ (Datuk Azman bin Mohd Yusof) ปลัดกระทรวงการค้าภายในและค่าครองชีพมาเลเซีย (Secretary General of the Ministry of Domestic Trade and Cost of Living) และคณะ พร้อมด้วย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (ร้อยตรีจักรา ยอดมณี) และรองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายกำแหง กล้าสุคนธ์) เพื่อหารือถึงความร่วมมือด้านการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ การกำกับดูแลการค้าภายในประเทศให้มีความเป็นธรรม และการฟื้นฟูการค้าชายแดน เพื่อให้การค้าทั้งสองฝ่ายบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 102,000 ล้านบาท) ในปี 2568

นางอรมน กล่าวว่า มาเลเซียมีความสนใจที่จะร่วมมือเพื่อส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์กับไทย ซึ่งถือเป็นประเด็นใหม่ที่ยังไม่เคยมีความร่วมมือระหว่างกันมาก่อน โดยจะเริ่มจากการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์เข้าร่วมงานแสดงสินค้าของแต่ละฝ่าย เพื่อสร้างโอกาสขยายพันธมิตรทางการค้า การจับคู่ทางธุรกิจ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องขั้นตอนและกฎระเบียบเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ของไทย โดยเฉพาะสาขาอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งปัจจุบันแฟรนไชส์ของไทยที่อยู่ในตลาดมาเลเซีย จำนวน 6 ราย ได้แก่ อเมซอน (Amazon) แบล็คแคนยอน (Black Canyon) กาแฟดอยช้าง ตำมั่ว บาบีก้อน และสมาร์ทเบรน (Smart Brain) ขณะที่แฟรนไชส์ของมาเลเซียที่อยู่ในไทยมีประมาณ 6 ราย อาทิ Secret Recipe Laundry Bar และ Unisense

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเร่งฟื้นการค้าชายแดนและเศรษฐกิจท้องถิ่นแถบพรมแดน ทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณชายแดน และการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการค้าระหว่างกันบรรลุตามเป้าหมายได้เร็วขึ้น โดยจะหารือเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ระดับรัฐมนตรี ซึ่งมีแผนจะจัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้

ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในโลก เป็นอันดับ 1 ของไทยในกลุ่มอาเซียน และเป็นคู่ค้าชายแดนอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับมาเลเซีย มีมูลค่า 27,196 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+12.91%) ไทยส่งออกไปมาเลเซีย มูลค่า 12,687 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+5.06%) และไทยนำเข้าจากมาเลเซีย มูลค่า 14,509 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+20.79%) ขณะที่การค้าชายแดนคิดเป็นสัดส่วน 35% ของการค้ารวมระหว่างสองประเทศ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ และแผงวงจรไฟฟ้า


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ก.ค. 2566 เวลา : 20:36:48
04-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 4, 2024, 3:58 pm