วิทยาศาสตร์
สดร. เดินหน้าเปิดโลกดาราศาสตร์สำหรับผู้บกพร่องทางการเห็น มุ่งหวังนำดาราศาสตร์เข้าถึงทุกคนอย่างทัดเทียม


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดค่ายส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับผู้บกพร่องทางการเห็น ณ จังหวัดเชียงใหม่ ทะลายขีดจำกัดการเรียนรู้เรื่องท้องฟ้าและดวงดาว มุ่งสร้างจินตนาการ แรงบันดาลใจ นำเรื่องราวดาราศาสตร์ให้เข้าถึงทุกคนอย่างทัดเทียม

 
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สดร.เล็งเห็นความสำคัญในการขยายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้กับบุคคลที่มีความต้องการทางการเรียนรู้พิเศษ ให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงดาราศาสตร์ได้ทัดเทียมบุคคลทั่วไป สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ที่กำหนดเจตนารมณ์ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกัน ร่วมบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้จึงนำมากำหนดเป็นแนวทางจัดกิจกรรมเพื่อกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์แก่บุคคลผู้มีความบกพร่องทางกาย สุขภาพ หรือบุคคคลที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ ออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะเพื่อให้เรียนรู้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด นำไปสู่การจัดค่ายส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับผู้บกพร่องทางการเห็นครั้งแรกเมื่อต้นปี 2566 ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

 
 
สำหรับค่ายส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับผู้บกพร่องทางการเห็นในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นค่ายที่ 2 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุมแอนโดรเมดา อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ มีนักเรียนและคุณครูจากโรงเรียนสอนคนตาบอดในพระบรมราชินูปถัมภ์ จ. เชียงใหม่ เข้าร่วม กว่า 100 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ สดร. ดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ร่วมเรียนรู้ดาราศาสตร์ผ่านกิจกรรม และสื่อการเรียนรู้ที่ผ่านการออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็นโดยเฉพาะ ประกอบด้วย “กิจกรรมเรียนรู้การเกิดกลางวันกลางคืน” เรียนรู้พื้นฐานการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ “กิจกรรมเรียนรู้ระบบสุริยะ” จำลองวัตถุท้องฟ้า ขนาด และระยะห่าง และ “กิจกรรมท้องฟ้าในมือฉัน” เรียนรู้การดูดาวเบื้องต้น รู้จักกลุ่มดาวบนท้องฟ้า กาแล็กซีต่าง ๆ ด้วยการใช้มือสัมผัสผ่านอุปกรณ์ ทรงกลมท้องฟ้า พร้อมกับเสียงบรรยายภายในท้องฟ้าจำลอง

 
สดร. มุ่งหวังว่ากิจกรรมนี้ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิดจินตนาการการเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ เสริมสร้างกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ผ่านประสบการณ์จริง ในอนาคต สดร. ยังงมีแผนที่จะพัฒนา และผลิตต้นแบบสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับผู้บกพร่องทางการเห็น รวมถึงกลุ่มบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษอื่น ๆ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และกระตุ้นให้สามารถสร้างจินตนาการ และเรียนรู้ดาราศาสตร์ได้ทัดเทียมกันทุกคน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ก.ค. 2566 เวลา : 20:29:37
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 8:27 pm