แบงก์-นอนแบงก์
กสิกรไทย ชูบริษัทลูก KIV ปล่อยกู้ช่วยคนตัวเล็ก เตรียมลงทุนเพิ่ม 7 หมื่นล้าน ขยายธุรกิจเพิ่ม


ธนาคารกสิกรไทย เปิดยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตธุรกิจในระยะยาว ประกาศแยก “บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด” หรือ เคไอวี (KASIKORN INVESTURE: KIV) และ พัชร สมะลาภา เข้าดำรงตำแหน่ง Group Chairman ของ เคไอวี เพิ่มความคล่องตัวในการรุกธุรกิจให้บริการการเงินกับลูกค้ารายย่อย พร้อมใช้ศักยภาพของพันธมิตรร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ของธนาคาร เพื่อให้สามารถลดต้นทุนธุรกิจ และลดต้นทุนความเสี่ยงด้านเครดิต ปัจจุบัน บริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของเคไอวี ประกอบด้วย 14 บริษัท มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท


นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด หรือ เคไอวี เป็นบริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย เพื่อลงทุนในบริษัทร่วมกับพันธมิตร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มุ่งเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (Empower Every Customer’s Life and Business) โดยเคไอวีจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งของธนาคารและพันธมิตร เพื่อสร้างรายได้บนความเสี่ยงที่คุ้มค่า ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

“ธนาคารได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการของเคไอวี โดยมีคุณพัชร สมะลาภา เข้าดำรงตำแหน่ง Group Chairman ของ เคไอวีและแยกเคไอวีออกมา เพื่อทำให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ขยายความร่วมมือกับพันธมิตร ภายใต้การใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ธนาคารมั่นใจว่า การปรับครั้งนี้จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย และสร้างรายได้ใหม่ให้กับธนาคาร ทำให้ธนาคารมีกำไรทางธุรกิจที่สูงกว่าธนาคารบริหารจัดการเอง รวมทั้งทำให้ธนาคารมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน”

นายพัชร สมะลาภา Group Chairman ของ บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายของ   เคไอวี คือ เพิ่มความสามารถในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งมีโจทย์สำคัญคือ ต้องลดต้นทุนการดำเนินงาน (Operating Cost) และลดต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) เพื่อให้ยังคงความสามารถในการสร้างกำไรของธุรกิจ การดำเนินงานของเคไอวีอาศัยความเชี่ยวชาญของพันธมิตรในแต่ละด้าน รวมกับการใช้โครงสร้างและทรัพยากรของธนาคารกสิกรไทยที่มีอยู่แล้ว เช่น จำนวนลูกค้ากว่า 20 ล้านราย K PLUS เงินทุน ข้อมูลไอที และสาขา เป็นต้น ซึ่งทำให้เคไอวีมีความเข้าใจลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถให้บริการการเงินที่ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย เจ้าของร้านค้ารายเล็ก กลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ให้สามารถใช้บริการการเงินในระบบได้มากขึ้น

ปัจจุบัน บริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของเคไอวี ประกอบด้วย 14 บริษัท มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท

นายพัชร กล่าวเพิ่มเติมว่า KIV จะดำเนินธุรกิจภายใต้ใบอนุญาต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยตั้งเป้าหมายทั้ง 14 บริษัท ภายใต้ KIV จะกำไรปี 2566 ที่ 900-1,100 ล้านบาท และปี 2569 จะกำไร 4,500-5,000 ล้านบาท ซึ่งปี 2565 ที่ผ่านมา มีกำไรกว่า 81 ล้านบาท มียอดปล่อยสินเชื่อรวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากบริษัท เงินให้ใจ ซึ่งเป็นธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และมาจากบริษัท กสิกรไลน์ (LINE BK) ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

ส่วนแผนขยายธุรกิจหลังจากนี้ นายพัชรกล่าวว่า เตรียมจะลงทุนเพิ่มอีก 3-4 บริษัทในเร็วๆ นี้ โดยจะเป็นการลงทุนเกี่ยวกับแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋ว-ที่พัก รวมถึง ขยายไปสู่การปล่อยสินเชื่อในอนาคต

สำหรับเงินลงทุนเบื้องต้น 3 หมื่นล้านบาทนั้น นายพัชรกล่าวว่า ไม่ได้หยุดอยู่ที่ตัวเลขนี้ เพราะต่อไปเมื่อธุรกิจมีการขยายตัวเติบโตขึ้น และมีโอกาสปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น เงินลงทุนก็จะต้องเพิ่มขึ้นอีกเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ โดยมีแผนปี 2569 จะเพิ่มเงินลงทุนเป็น 6.5-7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัว เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อเติบโตไปถึง 7.5-8 หมื่นล้านบาท และมีกำไร 4.5 -5 พันล้านบาท

“สำหรับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของ KIV ที่เราโฟกัสจะเป็นกลุ่มลูกค้า UnderBank กลุ่มลูกค้ารายย่อยที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ทั้งกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย เจ้าของร้านค้ารายเล็ก และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนกว่า 49% โดยการปล่อยสินเชื่อ ทาง KIV ไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์จะต้องมีรายได้ต่อเดือนเท่าไร เพราะอย่างที่บอกลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ได้มีรายได้ประจำ แต่ก็มีรายได้แต่อาจจะไม่เพียงพอ จึงต้องการเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ฉะนั้น KIV จะดูความตั้งใจมากกว่า ทั้งความตั้งใจในการประกอบอาชีพ ความตั้งใจในการค้าขายที่ต้องการเงินทุนเพื่อไปซื้อสินค้ามาไว้ค้าขายเลี้ยงชีพ ความตั้งใจที่จะไม่บิดพลิ้ว ชำระหนี้ได้ตลอดสัญญากู้ สิ่งต่างๆเหล่านี้ เราจะมีเทคโนโลยี AI หลายตัวเข้ามาจับมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตไม่ให้เกิดหนี้เสีย อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ คือ เราต้องหากลุ่มลูกค้าลักษณะนี้ให้เจอ เพื่อช่วยหน้าบ้านให้กล้าปล่อยสินเชื่อ ได้เงินคืนแน่เมื่อปล่อยกู้ไปแล้ว”นายพัชรกล่าว

ทั้งนี้ บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด (KIV) โครงสร้างการลงทุนมูลค่ารวมประมาณ 30,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 14 บริษัท

-บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด

KASIKORN LINE COMPANY LIMITED

 -บริษัท กสิกร ไลน์ อินชัวร์รันส์ โบรกเกอร์ จำกัด

KASIKORN LINE INSURANCE BROKER COMPANY LIMITED

-บริษัท ทีทูพี โฮลดิ้ง จำกัด

T2P HOLDINGS COMPANY LIMITED

-บริษัท ธิงเกอร์ฟินท์ จำกัด

THINKERFINT COMPANY LIMITED

-บริษัท กสิกร คาราบาว จำกัด

KASIKORN CARABAO COMPANY LIMITED

-บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด

TD TAWANDANG COMPANY LIMITED

-บริษัท แคปเชอร์วัน จำกัด

KAPTURE ONE COMPANY LIMITED

-บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด

BUZZEBEES COMPANY LIMITED

 -บริษัท กสิกร โกลบอล เพย์เมนต์ จำกัด

KASIKORN GLOBAL PAYMENT COMPANY LIMITED

 -บริษัท เงินให้ใจ จำกัด

NGERN HAI JAI COMPANY LIMITED

-บริษัท คาร์ ฮีโร่ จำกัด

CAR HERO COMPANY LIMITED

-บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด

J ASSET MANAGEMENT COMPANY LIMITED

-บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด

JK ASSET MANAGEMENT COMPANY LIMITED

-บริษัท แกร็บ โฮลดิ้ง จำกัด

Grab Holdings COMPANY LIMITED

 


LastUpdate 03/08/2566 11:03:18 โดย : Admin
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 4:49 am