ซีเอสอาร์-เอชอาร์
ทีทีบี มุ่งสานต่อกิจกรรมส่งเสริมความยั่งยืนด้านสังคม รวมพลังอาสาสมัครลงพื้นที่ "เปลี่ยน" ชุมชนคนหาปลาในลาดชะโด จ.อยุธยา ด้วยการแปรรูปสินค้าเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ที่ยั่งยืน


ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เดินหน้าสานต่อพลังเปลี่ยน...ชุมชนเพื่อความยั่งยืน ด้วยกิจกรรม fai-fah for Communities กิจกรรมดี ๆ ผ่านการ “ให้” จากพลังอาสาสมัครทีทีบีทั่วประเทศ เป็นกิจกรรมที่ดำเนินมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี กว่า 200 โครงการที่ส่งเสริมให้พนักงานของธนาคารใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของตนเอง ในการช่วยเหลือสังคมด้วยการทำงานอาสาสมัคร ซึ่งรวมไปถึงการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีความรู้และมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น เพื่อสร้างนิยามใหม่ผ่านแนวคิดการดำเนินธุรกิจธนาคารที่ยั่งยืน ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้ชุมชนและสังคมดีขึ้นไปด้วยพร้อม ๆ กัน สะท้อนความมุ่งมั่นในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนตามกรอบ B+ESG ที่ผสานธุรกิจและความยั่งยืนเป็นเนื้อเดียวกัน ในปีที่ผ่านมาทีทีบีจัดกิจกรรม fai-fah for Communities ไปแล้ว 27 โครงการ มีอาสาสมัครทีทีบีเข้าร่วมโครงการกว่า 3,000 คน  มีชุมชนได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมนับหมื่นราย และในปีนี้อาสาสมัครทีทีบียังมีโครงการที่เข้าไปพัฒนาชุมชนอีกกว่า 30 โครงการ เพื่อช่วยกันจุดประกายสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง

 
สำหรับหนึ่งในกิจกรรม fai-fah for communities ของปีนี้ที่อาสาสมัครทีทีบีได้เริ่มกิจกรรมไปแล้วนั้น ได้แก่ โครงการ ทีทีบีส่งเสริมอาชีพสู่ชุมชน โดยทีมธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ พระนครศรีอยุธยา ได้เข้าไปพัฒนาชุมชนบ้านท้ายตลาด ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำ ชาวบ้านในหมู่ 2 จำนวนไม่น้อยจึงยึดอาชีพหาปลาเพื่อสร้างรายได้ โดยขายเป็นปลาสดและแปรรูปเป็นปลาวงตากแห้ง แต่มักเจอปัญหาเรื่องราคากับการขายผ่านคนกลาง โดยเฉพาะในช่วงที่สามารถจับปลาได้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน จึงจำเป็นต้องนำไปขายในราคาถูก หากไม่ยอมขายปลาก็เน่าเสีย อาสาสมัครทีทีบี ได้ลงไปพูดคุยถึงปัญหาของชุมชน และนำทักษะความรู้เข้าไปช่วยเหลือชุมชน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน 

 
นายเอกชัย บุญแช่มชู อาสาสมัครทีทีบี และหนึ่งในแกนนำทีมธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ พระนครศรีอยุธยา เล่าปัญหาของชุมชนว่า ชาวบ้านที่มีอาชีพหาปลาอยากรวมกลุ่มกันสร้างรายได้เพื่อสร้างความเข้มแข็งในชุมชน จึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อแปรรูปปลาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพิ่มเติมจากปลาวงตากแห้งและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาถูกกดราคา ซึ่งหลังจากทีมอาสาสมัครทีทีบีลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน และเล็งเห็นว่าหากมีตู้แช่สำหรับเก็บสต็อกปลา ก็จะทำให้สามารถบริหารจัดการปลาได้ง่าย ไม่ต้องเร่งรีบขายในช่วงที่จับปลาได้จำนวนมาก จึงจัดหาและสนับสนุนตู้แช่ให้แก่ชุมชนเพื่อประโยชน์ในการจัดการได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้จัดกลุ่มและมีการแบ่งหน้าที่กันทำงานในชุมชน โดยจัดหาวิทยากรจากมหาวิทยาลัยราชมงคลมาช่วยสอนเกี่ยวกับการแปรรูปปลา 2 เมนู ได้แก่ น้ำพริกปลากระดี่ทอดกรอบสมุนไพร และ ปลาทอดกรอบสมุนไพรสามรส พร้อมออกแบบโลโก้และจัดหาบรรจุภัณฑ์ รวมถึงนำทักษะและความรู้ที่มีในด้านการบริหารเงิน ให้คำแนะนำเรื่องการตั้งราคาขาย ต้นทุน กำไร ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายแบบง่าย ๆ  และช่วยหาช่องทางการตลาดใหม่ เช่น การไปออกร้านในงานประจำปีต่าง ๆ อีกด้วย 
“ตอนนี้ถือเป็นก้าวแรกของชุมชน ซึ่งแก้ปัญหาเรื่องการถูกกดราคาได้ระดับหนึ่ง มีสินค้าและช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งในอนาคตอยากยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชน มีแหล่งผลิตสินค้าที่มีมาตรฐาน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้สม่ำเสมอ ทีมอาสาสมัครทีทีบีได้เข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมและให้ความรู้กับชาวบ้าน ทำประโยชน์ให้กับชุมชน ทำให้เราเข้าถึงและรู้จักชุมชนมากขึ้น ที่สำคัญเราได้รับความสุขจากการให้อย่างแท้จริง”

 
นายขวัญชัย สาระสันต์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ในฐานะประธานกลุ่มชุมชนท้ายตลาด กล่าวว่า อาชีพหาปลาต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะต้องขับรถมอเตอร์ไซค์ไปตระเวนหาตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งก่อนจัดตั้งเป็นกลุ่ม ชาวบ้านจะเน้นขายปลาสดมีรายได้เฉลี่ยวันละ 600 - 700 บาท แต่หากนำไปแปรรูปมูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยที่ผ่านมามักจะถูกกดราคา จึงคิดรวมตัวกันตั้งกลุ่มมาตลอด แต่ชาวบ้านขาดความรู้และไม่มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง ดังนั้น เมื่อได้เจอกับทีมอาสาสมัครทีทีบีที่มาลงพื้นที่ ชาวบ้านจึงตื่นตัวมาก แม้ตอนนี้จำนวนสมาชิกหลักในกลุ่มยังมีไม่มาก แต่ก็เริ่มเห็นแนวโน้มที่ดี สะท้อนจากการจ้างงานคนในชุมชนมาช่วยแปรรูปปลา ที่สำคัญชาวบ้านได้มีตู้แช่ปลาที่ได้รับการสนับสนุน ทำให้สามารถเก็บปลาไว้ได้นานขึ้น และสามารถบริหารจัดการได้ตามความต้องการของตลาดอย่างสม่ำเสมอ 

 
“หลังจากทีมอาสาสมัครทีทีบีเข้ามาช่วยเหลือมีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป ชัดเจนที่สุด คือ เรื่องความสามัคคีของคนในชุมชน กระตุ้นให้คนตื่นตัวอยากร่วมมือกันมากขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณอาสาสมัครทีทีบีที่มีโครงการดี ๆ มาสนับสนุนชุมชน ทั้งในเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ เช่น เรื่องการบริหารจัดการ การทำบัญชีการเงิน การแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่า และช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่าย รวมถึงตู้แช่เย็นและบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย โดยเป้าหมายในอนาคตอยากสร้างมาตรฐานปลาวงตากแห้งให้กับชุมชนอื่นโดยใช้ชุมชนนี้เป็นต้นแบบในการพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพและถูกสุขลักษณะ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้กับปลาวงทำให้เกิดการจ้างงาน กระจายรายได้เป็นวงกว้าง ผู้สูงอายุที่ว่างงานมาช่วยตากปลามีรายได้วันละ 200-300 บาท หรือนักเรียนที่อยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ก็มาทำงานรับจ้าง และสุดท้ายคืออยากทำให้คนในชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน” นายขวัญชัย กล่าว        

 
ด้านนางรุ่งนภา กำลังคลี่ ชาวบ้านที่มีอาชีพหาปลา และเป็นเลขากลุ่ม บอกว่า ข้อดีของการรวมกลุ่มกันคือ การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของชุมชน ทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น และทำให้หลายครัวเรือนมีรายได้เพิ่มจากการจ้างงาน รวมถึงคนหาปลาก็สามารถนำปลามาขายให้กลุ่มได้โดยตรงในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งต้องขอบคุณทีมอาสาสมัครทีทีบีที่เข้ามาช่วยเหลือแนะนำให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องการวางแผนแก้ปัญหาปลาล้นตลาด แนะนำการรวมกลุ่ม การแบ่งหน้าที่กันทำงาน เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการการเงิน การพัฒนาแปรรูปสินค้า และช่องทางการตลาดใหม่ ๆ จนทางกลุ่มสามารถพัฒนาเป็นรูปเป็นร่าง ทำงานอย่างเป็นระบบกันมากขึ้น มีตู้แช่เย็นขนาดใหญ่ไว้เก็บสต็อกปลาได้อย่างมีคุณภาพ      

 
“เป้าหมายของกลุ่มคือ มีสินค้าขายอย่างสม่ำเสมอ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับสมาชิกรวมถึงคนในชุมชน เพราะการหาปลามีความไม่แน่นอน บางวันได้เยอะ แต่บางวันแทบไม่มีรายได้เลย การรวมกลุ่มถือว่าตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ดี ตอนนี้เราสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้ มียอดสั่งซื้อใหม่เข้ามา มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งแทบไม่ทัน ปลาไม่เพียงพอต้องเริ่มเปิดรับซื้อจากชุมชนอื่น และคนในชุมชนหันมาหาปลากันมากกว่าเดิม และไม่ต้องลำบากเดินทางไปขายที่อื่นอีกแล้ว รู้สึกดีมากที่อาสาสมัครทีทีบีได้ลงมาช่วยพัฒนาชุมชน ทำให้เรารู้ว่าอนาคตต้องดีขึ้นแน่นอน ตอนนี้เราก็ค่อย ๆ พัฒนาสินค้ากันไป หากทุกอย่างประสบความสำเร็จและสามารถจ้างงานได้มากขึ้นก็จะทำให้คนในชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเป็นรายได้ของทุกคน เป็นผลดีต่อการพัฒนาชุมชนจริง ๆ” นางรุ่งนภา กล่าวทิ้งท้าย 

โครงการ “ทีทีบีส่งเสริมอาชีพสู่ชุมชน” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืนจากโครงการไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี ด้านจุดประกายชุมชน ที่ตั้งใจเดินหน้าเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจ และความสำเร็จของเหล่าอาสาสมัครทีทีบี ที่ร่วมด้วยช่วยกันทำโครงการที่คืนประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ปรัชญา Make REAL Change สามารถติดตามกิจกรรมดี ๆ จากเหล่าอาสาสมัครทีทีบีกันต่อที่ www.tmbfoundation.or.th
 
 
#ไฟฟ้าจุดประกายชุมชน #faifahforCommunities #ไฟฟ้าทีทีบี
#ให้ชีวิตการเงินดีทั้งวันนี้และอนาคต #เปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น
#ttb #MakeREALChange
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ส.ค. 2566 เวลา : 16:50:32
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 6:11 pm