ซีเอสอาร์-เอชอาร์
กลุ่มทิสโก้ รักษ์โลก 33 ปีแห่งการเติบโต จากต้นกล้า..สู่ป่าสังขละบุรี


 
กลุ่มทิสโก้ ร่วมกับ กรมป่าไม้ และชุมชนวัดวังก์วิเวการาม ลงพื้นที่ติดตามการปลูกป่าในโครงการ “ปลูกป่าถาวรทิสโก้ อำเภอสังขละบุรี” ที่ดำเนินการมานับตั้งแต่ปี 2534 เพื่อวัดการเจริญเติบโตของต้นไม้ พร้อมประเมินศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และคำนวณปริมาณคาร์บอนสะสมประจำปี โดยมีคุณกิตติมา อัศวเรืองชัย (ขวา) หัวหน้าหน่วยงานความรับผิดชอบต่อสังคมกลุ่มทิสโก้ นำทีมในการลงพื้นที่ และคุณอรัญญา เจริญหงส์ษา (กลาง) รองนายกเทศมนตรีตำบลวังกะ ในฐานะผู้นำชุมชนมาช่วยให้ข้อมูล 
   
 
สำหรับโครงการปลูกป่าถาวรทิสโก้ บริเวณพื้นที่โดยรอบวัดวังก์วิเวการาม อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่กลุ่มทิสโก้และประชาชนในชุมชนร่วมแรงร่วมใจช่วยกันดูแลมาตลอดระยะเวลา 33 ปี (นับตั้งแต่ปี 2534) มีจำนวนทั้งสิ้น 10 แปลง โดยในปี 2566 กลุ่มทิสโก้ ได้ยื่นขอการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโครงการสนับสนุนก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS) จำนวน 3 แปลง พื้นที่ 166 ไร่ และมีต้นไม้จำนวน 70,000 ต้น ซึ่งได้รับการประเมินว่า  มีศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกรวม 32.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ข้อมูลผลประเมิน ณ วันที่ 7 มิ.ย. 2566)
 
 
ในส่วนของพันธุ์ต้นไม้ในพื้นที่ทั้ง 166 ไร่ดังกล่าว ประกอบด้วย ต้นสัก 63% ต้นแดง 13% ต้นมะขามป้อม 8% ต้นสะเดา 7% และต้นไม้ชนิดอื่นๆ 9% ซึ่งต้นไม้ใหญ่ที่มีขนาดเส้นรอบวงลำต้น 51-100 ซม.มีสัดส่วนมากถึง 60% ต้นไม้ที่มีความสูงเฉลี่ย 10-20 เมตร มีสัดส่วนถึง 68% ในขณะที่ต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีความสูงอยู่ที่ 30-40 เมตร และมีเส้นรอบวงลำต้นอยู่ที่ 201-300 ซม. ขณะเดียวกัน กลุ่มทิสโก้ ยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมร่วมกับชุมชนในการปลูกไม้แดง เพื่อใช้ในการซ่อมแซมสะพานมอญในอนาคตด้วย
 
 
 
 
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มทิสโก้ ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยการแปลงแนวคิดอนุรักษ์ผืนป่าสู่การปฏิบัติจริงและมุ่งหวังให้เกิดผลที่ยั่งยืน ด้วยการปลูกกล้าไม้ในจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และส่งเสริมให้ชุมชนเรียนรู้คุณค่าของป่าไม้ในท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “ป่าอยู่รอด คนอยู่ได้” เป็นแนวทางสร้างกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่า ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เพชรบุรี นครนายก สมุทรปราการ นครสวรรค์ และนครราชสีมา โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกรมป่าไม้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในชุมชน ในการเตรียมพื้นที่ที่เหมาะสม ช่วยกันดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งสนับสนุนกล้าไม้ที่จะนำไปใช้ปลูก เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 (Net Zero Emission 2050) ในสโคป 1 และ 2 ตามนโยบายของ Sustainability Development Goals (SDGs) 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ส.ค. 2566 เวลา : 22:32:45
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 2:49 pm