การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สธ.จัดประชุมวิชาการ ปี 66 "ยกระดับสาธารณสุขไทยเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน"


 

?ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข “ยกระดับสาธารณสุขไทยเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน” ย้ำบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพพัฒนาตนเองต่อเนื่องให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมและวิวัฒนาการ รองรับความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน พร้อมแสดงความยินดี 5 นักการสาธารณสุขดีเด่น “รางวัลชัยนาทนเรนทร”

 
วันนี้ (12 กันยายน 2566) ที่ ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้า มลฑาทิพย์ ฮอลล์ จังหวัดอุดรธานี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดมหกรรมการจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 และโครงการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “ยกระดับสาธารณสุขไทยเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน” พร้อมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่นักการสาธารณสุขดีเด่น รางวัลชัยนาทนเรนทร ประจำปี 2565 มอบรางวัลเหรียญเชิดชูเกียรติ “ขุนประเมินวิมลเวชช์” ประจำปี 2566 และรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยม ประจำปี 2565 โดยมีผู้บริหาร บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมงานประมาณ 4,000 คน

 
นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี ส่งผลต่อพฤติกรรมและวิถีชีวิตของประชาชน งานด้านสาธารณสุขจึงต้องพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเช่นเดียวกัน ดังนั้น บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับจึงควรพัฒนาความรู้และทักษะอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ซึ่งการจัดประชุมวิชาการฯ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้บุคลากรทุกสาขาวิชาชีพได้มีโอกาสนำองค์ความรู้ใหม่ๆ จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเผยแพร่ผลงานสู่เวทีสาธารณะ นำไปสู่การพัฒนางานและการสร้างเครือข่ายทางวิชาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยรองรับความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในอนาคต สำหรับผลงานวิชาการยอดเยี่ยม ประจำปี 2565 มีผู้ได้รับรางวัล 7 คน ได้แก่ 1.นายวัชรินทร์ ทองสีเหลือง โดยศูนย์แพทย์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม โรงพยาบาลมหาสารคาม เรื่อง การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด TO BE NUMBER ONE ของนักศึกษามหาวิทยาลัยในจังหวัดมหาสารคาม 2. นายแพทย์อรุณชัย แซ่ฉั่ง โรงพยาบาลหาดใหญ่ เรื่อง บทบาทของการเสริมธาตุเหล็กทางปากในผู้ป่วยภาวะโลหิตจางภายหลังเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นแบบเฉียบพลัน : ผลการทดลองควบคุมแบบสุ่ม 3. นางศิริมา ไชยมูล กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลมหาสารคาม เรื่อง การประยุกต์ใช้ยาเม็ดรับประทานในการพัฒนาสูตรตำรับยาเตรียมเฉพาะคราว ครีมทาช่องคลอดคอนจูเกทเอสโตรเจน 4. นางพันธ์ฉวี สุขบัติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร เรื่อง ถอดบทเรียนการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในการรับมือโควิด 19 จังหวัดมุกดาหาร กรณีรับส่งแรงงานชาวลาวกลับบ้าน จากสถานการณ์ “ผึ้งแตกรัง” 5.นายธนสิทธิ์ สนั่นเมือง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เรื่องการพัฒนาระบบรับ – ส่งต่อผู้ป่วย (Smart Refer) เขตสุขภาพที่ 10 6.นายสุรัตน์ คร่ำสุข กลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เรื่อง การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บวิกฤตฉุกเฉินในโรงพยาบาล และ 7. นายคัชชรินทร์ โค้วสมจีน โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่อง การพัฒนารูปแบบการให้บริการถ่ายภาพรังสีทรวงอกผู้ป่วยโควิด 19

 
รางวัล “นักการสาธารณสุขดีเด่น รางวัลชัยนาทนเรนทร” มีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้ 1.ประเภทบริหาร ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและประธานคณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช “องคมนตรีและปูชนียแพทย์ของประเทศไทย ผู้บริหารการศึกษา การแพทย์ การสาธารณสุข โดยใช้ศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และต่อยอด ก่อประโยชน์ให้กับประชาชน บุคลากรทางการแพทย์และการศึกษาทั่วประเทศ” 2.ประเภทบริการ นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมสาขาอายุรกรรม สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค “อายุรแพทย์ผู้อุทิศตนรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อและนำไปสู่การค้นคว้าวิจัยและพัฒนางานบริการสู่ระดับสากล” 3.ประเภทวิชาการ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ผู้ศึกษา ค้นคว้า วิจัยด้านไวรัสวิทยา ทำให้ลดอัตราป่วยตายในโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” 4.ประเภทผู้นำชุมน นายณัฐพล ทองไหล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน “ผู้นำความรู้ด้านสาธารณสุขมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานในฐานะผู้นำชุมชน บูรณาการงานสาธารณสุขเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” และ 5.ประเภทประชาชน นายพนม นามผาญ อสม.ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก “อสม.ที่ประยุกต์ใช้ความรู้ที่พิสูจน์ได้ในเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของระบบสุขภาพภายในชุมชน”

 
ส่วนผู้ได้รับรางวัลเหรียญเชิดชูเกียรติ “ขุนประเมินวิมลเวชช์” ประจำปี 2566 ได้แก่ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค จากการเป็นผู้อุทิศตนด้านการป้องกันควบคุมโรค สร้างความเข้มแข็งของระบบการสาธารณสุขไทย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ก.ย. 2566 เวลา : 13:49:05
01-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 1, 2024, 10:58 am