การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2566 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก


กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมจะเลื่อนกลับลงมา พาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนัก โดยเฉพาะด้านตะวันตก ของภาคเหนือ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยง ดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 17 – 21 กันยายน 2566 ดังนี้


 
 
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม

1.1 ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอเทิง) จังหวัดพะเยา (อำเภอเมืองพะเยา) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย ฝาง และแม่อาย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน) จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง อุ้มผาง แม่สอด แม่ระมาด และพบพระ) จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน แม่จริม ปัว เฉลิมพระเกียรติ บ่อเกลือ ทุ่งช้าง ท่าวังผา เวียงสา และสองแคว) จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มสัก และหล่มเก่า)

1.2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอเมืองเลย วังสะพุง และภูหลวง) จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอหนองบัวแดง) จังหวัดอุดรธานี (อำเภอเมืองอุดรธานี บ้านดุง กุมภวาปี นายูง และหนองหาน) จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ กุฉินารายณ์ สมเด็จ นามน ดอนจาน สามชัย และคำม่วง) จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเสลภูมิ) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี)

1.3 ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี มะขาม ท่าใหม่ เขาคิชฌกูฏ ขลุง โป่งน้ำร้อน และแก่งหางแมว) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง แหลมงอบ บ่อไร่ เกาะช้าง และเกาะกูด)

2. พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา จังหวัดน่าน ลำน้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก ลำน้ำก่ำ จังหวัดนครพนม ลำเซบาย จังหวัดยโสธร แม่น้ำลำปาว อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ลำน้ำยัง อำเภอโพนทอง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

 
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมือง ที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน

2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ย. 2566 เวลา : 18:43:40
01-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 1, 2024, 5:48 am