หุ้นทอง
Climate Governance หัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน


“หลักธรรมาภิบาล” หรือ Governance เป็นรากฐานที่สำคัญของทุกเสาหลัก (pillars) ภายใต้มาตรฐาน การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินโดยคณะทำงานเพื่อพัฒนากรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures : TCFD) และมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนโดย International Sustainability Standards Board (ISSB) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันในระดับสากล 1


ผู้เขียนขอชวนมาทำความเข้าใจหลักคิดในการนำ Governance มาใช้ในการบริหารจัดการโอกาสและ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกกันว่า “Climate Governance” ในบริบทของ ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางในตลาดทุน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ การให้คำแนะนำการลงทุน และการบริหารจัดการความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน เพื่อผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวของผู้ลงทุน

บทบาทของ “แม่ทัพ” และ “หัวเรือใหญ่” ในการขับเคลื่อน Climate Action

คณะกรรมการและคณะกรรมการบริหารของบริษัทเปรียบเสมือน “แม่ทัพ” และ “หัวเรือใหญ่” ผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและนโยบายในการดำเนินธุรกิจ แผนกลยุทธ์ รวมทั้งการผลักดันองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (good corporate governance) ซึ่งหลักการดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนทุก ๆ องค์กรไปสู่การบรรลุเป้าหมายการให้บริการที่คำนึงถึงประโยชน์ของ ผู้ลงทุนเป็นสำคัญและการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ซึ่งรวมถึงเป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) ด้วย

จากบทบาทหน้าที่ดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทจึงเป็นผู้ที่ต้องมีความตื่นตัว มีวิสัยทัศน์ เล็งเห็นถึงโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งให้ความสำคัญในการกำหนดทิศทาง และมอบแนวนโยบายที่ชัดเจน (set tone from the top) ให้แก่คณะกรรมการบริหารเพื่อนำไปถ่ายทอดสู่ระดับปฏิบัติการต่อไป

“Tone from the Top” เพื่อผลักดันวาระเร่งด่วนโลก

วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ มาพร้อมกับโอกาสและความเสี่ยง ทางธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่นักวิเคราะห์การลงทุนจัดทำ บทวิเคราะห์ หรือบริษัทจดทะเบียนในพอร์ตการลงทุนที่ผู้จัดการกองทุนบริหารจัดการลงทุนอยู่ โดยที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ต่อบริษัทใดบริษัทหนึ่งอาจอยู่ในรูปแบบและระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน รวมทั้งอาจเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้นหรือยืดเยื้อในระยะยาว ซึ่งส่งผลให้นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต้องหมั่นติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องก็เป็นได้

ดังนั้น การที่ บล. หรือ บลจ. แต่ละองค์กรมี tone from the top จากคณะกรรมการและคณะกรรมการบริหารที่ชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับการผนวกโอกาสและความเสี่ยงจาก climate change ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ การให้คำแนะนำการลงทุน และการบริหารจัดการลงทุน นอกจากจะช่วยให้ทุกคนในองค์กรเห็นทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนแล้ว ยังมีข้อดีอื่น ๆ ดังนี้

1. บทวิเคราะห์การลงทุนมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งมีการให้คำแนะนำการลงทุน ซึ่งช่วยให้ผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น ไม่ว่าในการตัดสินใจซื้อ ขาย หรือถือครองหลักทรัพย์นั้น ๆ

2. ลดความเสี่ยงของพอร์ตการทุน ช่วยให้ผลการดำเนินงานของกองทุนเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

3. บล.และ บลจ.เป็นกำลังสำคัญในการช่วยผลักดันให้บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ใน 4 สาขาที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ (1) สาขาพลังงาน (2) สาขาคมนาคมขนส่ง (3) สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้พลังงาน และ (4) สาขาการจัดการของเสียชุมชน2 ซึ่งจะช่วยนำพาประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ. 2608 ได้ต่อไป

“หนทางไกลนับหมื่นลี้ ต้องเริ่มต้นที่ก้าวแรก”

สำหรับ บล. และ บลจ. ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร องค์กรและหน่วยงานสากล 7 แห่ง3 ได้ร่วมกันจัดทำตัวอย่างแผนการดำเนินการ (action plan) ด้าน climate change โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็นระยะต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวช่วยผู้ประกอบธุรกิจในการจัดทำ action plan ที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง และมีทิศทาง การดำเนินงานที่ชัดเจนต่อไป โดยผู้เขียนขอยกตัวอย่าง action plan ระยะเริ่มต้นในด้าน governance ดังนี้

1. การกำหนดแนวนโยบาย

จัดทำแนวนโยบายและจัดให้มีถ้อยแถลงเกี่ยวกับแนวนโยบายขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับ การคำนึงถึงโอกาสและความเสี่ยงจาก climate change ในการดำเนินธุรกิจ (กำหนด tone from the top)

พัฒนาความเชื่อของบุคลากรเกี่ยวกับประโยชน์ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ การให้คำแนะนำการลงทุน และการบริหารจัดการลงทุนที่คำนึงถึงโอกาสและความเสี่ยงจาก climate change โดยการสร้างความตระหนักรู้ว่าแนวนโยบายดังกล่าวจะช่วยสร้างมูลค่าในระยะยาวให้กับองค์กรและพอร์ตการลงทุนโดยรวมอย่างไร และสอดคล้องกับหลักการให้บริการด้วยความระมัดระวังและความน่าเชื่อถือไว้วางใจ (fiduciary duties) ที่พึงมีต่อผู้ลงทุนอย่างไร รวมทั้งการจัดอบรมพัฒนาให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจว่าจะนำเรื่องดังกล่าวผนวกในกระบวนการทำงานอย่างไร

2. ความรับผิดชอบ

กำหนดบทบาทและความรับผิดชอบให้แก่บุคลากรในด้านการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยงและการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแนวนโยบายขององค์กร

3. การวางแผนและการประเมิน

พัฒนาแผนกลยุทธ์และวางแผนการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรในการผนวกโอกาสและความเสี่ยงจาก climate change ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ การให้คำแนะนำการลงทุน และการบริหารจัดการลงทุน นอกจากนี้ ยังสามารถศึกษา action plan ด้าน governance ในระยะต่อ ๆ ไปได้จาก Investor Climate Action Plans (ฉบับปรับปรุง กรกฎาคม 2566) รวมทั้งแนวทางการผนวกโอกาสและความเสี่ยงจาก climate change ได้จากคู่มือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศสำหรับผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน รวมทั้งสามารถศึกษา Guidance For Integrating ESG Information into Equity Analysis and Research Reports ได้ผ่านเว็บไซต์ของ CFA Institute และ ก.ล.ต.

ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ผู้นำหรือผู้บริหารองค์กรมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับองค์กร ผู้เขียนจึงหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และช่วยให้ผู้บริหารของทุกองค์กร โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมี Climate Governance โดยมีวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการผนวกความเสี่ยงและโอกาสจาก climate change ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำพาตลาดทุนไปสู่ความยั่งยืนและช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ต.ค. 2566 เวลา : 12:52:49
04-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 4, 2024, 8:51 pm