ไอที
Scoop : AI "สมองกล" ต้องทำงานร่วมกับ "สมองคน" ถึงไปด้วยกัน ไปได้ไกล


ประเด็นเรื่องของ AI กำลังเข้ามาแย่งงานมนุษย์ในหลายๆ Field ของโลกการทำงาน กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากบนโลกโซเชียล ณ เวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นการ Generated สร้างตัวตน AI ขึ้นมาเสมือนคน เพื่อนำมาเป็นทั้งอินฟลูเอนเซอร์ พรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์ หรือใช้เป็นส่วนประกอบในการโฆษณา แทนการ Casting หาคนจริงๆ มาแสดงนั้น มีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆในหลายบริษัท หรือการที่รายการต่างชาติยกเลิกจ้างนักแปลซับ เนื่องจากจะตัดค่าใช้จ่าย และหันไปใช้ AI ที่เป็นโปรแกรมแปลอัตโนมัติแทน ก็เป็นประเด็นร้อนที่ทำให้หลายคนกำลังกังวลว่า สรุปแล้ว AI เป็นมิตรที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกมนุษย์ หรือเข้ามาทำลายเส้นทางอาชีพของมนุษย์กันแน่
 
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า AI หรือ Artificial Intelligence เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาให้สามารถคิดได้เอง และแสดงผลออกมาอย่างชาญฉลาดเหมือนหรือเหนือกว่ามนุษย์ โดยมีจุดประสงค์หลักคืออำนวยความสะดวก และแบ่งเบาการทำงานของมนุษย์ให้สามารถตัดสินใจในสิ่งที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น ซึ่ง AI สามารถแบ่งออกได้ตามระดับสติปัญญาอยู่ 3 จำพวกด้วยกัน ได้แก่ ANI AGI และ ASI
 
1. ANI (Artificial Narrow Intelligence) เป็น AI ที่มีความสามารถเฉพาะทาง เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งเพียงเท่านั้น ไม่สามารถคิดต่อยอดเองไปยังศาตร์อื่นๆได้ วิธีการเรียนรู้ของ AI ประเภทนี้คือเรียนรู้จากข้อมูลและชุดคำสั่งที่ถูกป้อนเข้าไปในปริมาณมาก มีการ Deep Learning จนสามารถตัดสินใจจากข้อมูลได้อย่างแม่นยำ
 
2. AGI (Artificial General Intelligence) เป็น AI ที่มีความฉลาดและความสามารถเหมือนมนุษย์ โดยมีความรู้ในเชิงกว้าง ทั้งความสามารถในการคิดเชิงเหตุผล การคิดซับซ้อน การวางแผนแก้ปัญหา สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ ทำให้ AI ประเภทนี้พัฒนาตัวเอง ทำทุกอย่างเหมือนที่มนุษย์ทำได้
 
3. ASI (Artificial Super Intelligence) เป็น AI ระดับอุดมคติ ที่ฉลาดกว่า มีความสามารถเหนือมนุษย์ ซึ่งวลีที่ว่า “AI จะครองโลก” ที่ผู้เชี่ยวชาญต่างหวาดกลัวกันนั้น ก็คือ AI ประเภท ASI นี้เอง
 
ในปัจจุบันนี้ AI ทุกตัวที่อยู่บนโลก ล้วนเป็น AI ประเภท ANI ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพียงเท่านั้น ยังไม่พัฒนาสู่ขั้นที่สอง และการมาถึงระดับของ ASI ที่หลายคนต่างจินตนาการว่ามันอาจเป็นภัยทำลายล้างโลกเหมือนในหนัง ก็ยังคงเป็นจินตนาการที่ไกลตัวมาก ฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังกังวลอยู่ในตอนนี้คือ AI ประเภทขั้นต้น ที่จริงอยู่ว่า AI ชนิดนี้ มีความสามารถในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลึกซึ้ง เช่นโปรแกรม Midjourney AI วาดรูปตามคำบอก ที่แสดงผลออกมาในระยะเวลาที่รวดเร็วเกินขีดจำกัดของมนุษย์ หรือจะเป็นโปรแกรมแปลภาษา Machine Translation แต่ก็ไม่ได้แปลว่าการมีอยู่ของมัน คือภัยอันตรายที่เข้ามาแย่งช่องทางทำมาหากินของมนุษย์เสียทีเดียว เพราะอย่างในกรณีของการที่มีบริษัทเริ่มใช้ AI แปลอัตโนมัติ แทนนักแปลนั้น หน้าที่ของนักแปลนั้นเปลี่ยนไปเป็นอีกอาชีพ คือจ้างคนมาเป็น Profreading/Editing เกลาสำนวนภาษาและตรวจบริบทการแปลแทน เพราะ AI แม้จะเก่งกาจและทำงานได้เกินกำลังกว่ามนุษย์ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต นักแปลที่มีความเชี่ยวชาญ หรือเป็น Native ที่คลุกคลีกับภาษานั้นๆ หรือมีการใช้ภาษาในสังคมตัวเอง จะมี Skills ในการรับรู้ถึงโทน หรือบริบทของภาษาในปัจจุบัน เช่น การเล่นมุขของกลุ่มคนยุคใหม่ ที่อาจจะหยิบยกประโยคหนึ่งของละครสมัยก่อน นำมาแปลงความหมายใช้เรียกกับอีกสิ่งๆหนึ่งในโลกโซเชียล สามารถเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อภาษาที่ผนวกเข้ากับความเป็นสังคมของมนุษย์ ทำให้ภาษาดิ้นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นจุดบอดที่เกินกำลังความสามารถของ AI ฉะนั้นแล้วโปรแกรมการแปลอัตโนมัติ มันไม่ใช่ “ภัยอันตราย” อย่างที่ทุกคนกลัวเสียทีเดียว แต่เป็นเครื่องทุ่นแรง ที่ “สมองกล” มีส่วนในการเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานให้รวดเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพขึ้น โดยสามารถแปลได้รวดเร็วและได้งานเสร็จสิ้นได้ในปริมาณที่มากกว่าการให้มนุษย์แปล ส่วนมนุษย์ที่เคยทำหน้าที่นี้มาก่อน ก็ได้รับผลกระทบที่จะต้องเปลี่ยนบทบาทในการทำงานเท่านั้น
 
ส่วนการสร้าง AI ขึ้นมาเป็นตัวตน แทนการจ้างคน จ้างไอดอล นักร้อง หรือนักแสดง มาโปรโมตสินค้าหรือบริการนั้น จริงอยู่ที่ว่าตอนนี้มีหลายๆบริษัทเริ่มใช้บ้างแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า บริษัทที่เหลือจะกลายมาใช้ AI แทนคนจริงๆมาทำการตลาด และการ PR เพราะคนจริงๆ นั้นมี Background และสิ่งที่ติดตัวมาของตัวเอง เช่น ชื่อเสียง ทัศนคติ Lifestyle ที่ถ้าไปในทางเดียวกันกับ Goals หรือคุณค่าของธุรกิจนั้น ก็จะเป็นประโยชน์ให้กับตัวสินค้าและบริการมากกว่า AI แน่นอน เช่น นักแสดงที่เป็น Activist ในเรื่องของท้องทะเล ก็อาจเหมาะกับบริษัทที่ประกาศว่าตัวเองให้ความสำคัญกับ ESG หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของบริษัท (เช่น ครีมกำแดดสำหรับลงน้ำทะเลได้ ไม่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการัง) และการใช้ผู้มีชื่อเสียงก็จะได้ประโยชน์จากแฟนคลับที่มีวัฒนธรรมในการสนับสนุน “คน” ที่พวกเขาชื่นชอบและบอกต่อกระจายไปทั้งโซเชียล ซึ่งสร้างมูลค่าแบรนด์ได้มากกว่าการ Generated AI ขึ้นมา แต่การที่มีบางบริษัทหันมาใช้ AI ก็อาจจะเป็นในเรื่องของการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่าย เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างปลอดภัยในช่วงที่มีข้อจำกัดในด้านการเงินก็เป็นได้
 
ฉะนั้นแล้ว AI ไม่ใช่ภัยอันตรายแต่อย่างใด เพราะหัวใจหลักของ AI ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแบ่งเบาภาระมนุษย์ และเพิ่มขีดความสามารถของการทำงาน ที่คอยผลักดันให้โลกก้าวพัฒนาได้มากขึ้น และทุกๆการพัฒนา หรือการเกิดขึ้นใหม่ ก็ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสัจธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเราพินิจถึงประโยชน์ของ AI ให้ดี และใช้ได้อย่างถูกทาง “สมองกล” ที่ทำงานร่วมกับ “สมองคน” จะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ให้กับโลกใบนี้ได้อย่างแน่นอน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ธ.ค. 2566 เวลา : 19:37:51
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 1:01 am