หุ้นทอง
KBank Private Banking เปิดมุมมองการลงทุนปี 67 เตรียมรับมือ Soft Landing ชี้ หุ้นไทยยังน่าเป็นห่วง


KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) ผู้นำบริการไพรเวทแบงก์ในไทย แนะนำการลงทุนอย่างมีศักยภาพ เพื่อพร้อมรับสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงแบบ Soft Landing ในปี 2567 ปรับพอร์ตหลัก ลงทุนในกองทุนผสมแบบ Risk-based asset allocation และแบ่งพอร์ตเสริม กระจายลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพ ดีรับโอกาสช่วงดอกเบี้ยในตลาดปรับลดลง ด้านตลาดหุ้นยังมีความท้าทายจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะหุ้นไทยยังคงรับแรงกดดัน ควรเน้นกองทุนที่บริหารเชิงรุกในหุ้นเติบโตทั่วโลกอย่างหุ้นในกลุ่ม Magnificent 7 และสินทรัพย์อ้างอิงในตลาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลหลัก 

 
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยถึงตลาดหุ้นโลกในช่วงปี 2566 นี้ว่าค่อนข้างมีความผันผวน แต่มีแนวโน้มว่าจะปิดได้ดีในสิ้นปีนี้ เพราะตั้งแต่เริ่มต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน (YTD) ดัชนีหุ้นโลก หรือ MSCI World Index มี Total Return ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 17.8% ซึ่งจริงๆมีการปรับไปถึงระดับช่วงนี้ตั้งแต่กลางปีแล้ว และมีการผันผวน ปรับตัวลดลงในระยะเวลาต่อมา แต่สุดท้าย ในช่วงปลายเดือนต.ค. จนถึงวันนี้ มีการขยับตัวขึ้นมาจนถึงระดับปัจจุบันดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ปลอดภัย แต่หากจำแนกดูจากหุ้นทีละตัว จะเห็นได้ว่าหุ้นไม่ได้มีการขยับขึ้นทั้งหมดโดยรวม (Broad-based) แต่เป็นผลมาจากหุ้นในกลุ่ม Magnificent 7 เป็นตัวสำคัญที่ดึงค่าเฉลี่ยหุ้นโลกทั้งหมดให้สูงขึ้นมา ซึ่งได้แก่ Apple (AAPL), Microsoft (MSFT), Alphabet (GOOGL, GOOG), Amazon (AMZN), Meta Platforms (META), Tesla (TSLA) และ Nvidia (NVDA) ที่จัดได้ว่าเป็น Winners of The New Economy หรือ หุ้นที่เป็นผู้ชนะของเศรษฐกิจใหม่ ที่ยึดโยงอยู่กับเรื่องของภาคบริการ เทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ 
 
 
สำหรับผลตอบแทนของตลาดหุ้นแยกเป็นรายประเทศ ตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ปรับตัวคล้ายกับหุ้นโลก ซึ่งมีการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่น (Nikkei225) มี Performance สูงที่สุด อ้างอิงจากผลประกอบการ ที่ให้ผลตอบแทน 30% แต่หุ้นญี่ปุ่นนั้นมีข้อจำกัดในแง่ของค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงไปมาก ซึ่งเมื่อเทียบเป็นสกุลเงินเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ผลตอบแทนของหุ้นญี่ปุ่นจึงอยู่ที่ 15% เท่ากับตลาดหุ้นสหรัฐฯ  ส่วนดัชนีหุ้น Asia ex Japan (ตลาดหุ้นเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่น) ทำผลตอบแทนได้คาบเส้น เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้หุ้น CSI 300 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้น A-Shares บริษัทที่จดทะเบียนในจีน และหุ้น Hang Seng ปรับตัวลดลงติดลบกว่า 10% แต่ได้แรงส่งจากอินเดีย ที่เศรษฐกิจดีมากจากการบริโภคภายในประเทศ และงบกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคก่อนการเลือกตั้ง ที่ทำให้ตลาดหุ้นอินเดียโตขึ้น 18%
 
 
“ในขณะที่ SET Index ของไทยเป็น 1 ในดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงมากที่สุดถึงประมาณ -15% ซึ่งทางเรามองว่าไม่แนะนำให้ลงทุนหุ้นไทยในสัดส่วนที่มากนักในพอร์ตของปีหน้า อ้างอิงจาก Performance ของพอร์ตการลงทุนใน KBank Private Banking ที่ได้เพิ่มหุ้นไทยเข้ามาในพอร์ตเมื่อ 3 - 4 เดือนที่ผ่านมานั้น มีการติดลบไปถึง 13% แต่เนื่องจากเป็นการลงทุนในหุ้นไทย SME คุณภาพ เราเลยคาดว่าจะมีการฟื้นตัวในภายหลัง ส่วนหุ้นไทยขนาดใหญ่ จะมีทิศทางที่ล้อตามสภาวะเศรษฐกิจในประเทศโดยรวม ซึ่งต้องรอดูการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของภาครัฐว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งในเรื่องของการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายกลุ่มเริ่มกลับเข้ามาในไทยแล้ว แต่นักท่องเที่ยวจีนที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวใหญ่ของไทยยังไม่กลับเข้ามาเท่าที่ควร เนื่องจากจีนประสบปัญหาเศรษฐกิจในประเทศตัวเอง ที่อำนาจการใช้จ่ายของคนในประเทศลดลง อันเป็นผลจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับทางการจีนมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้นด้วย แต่ถ้าหากนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มใหญ่สามารถกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้ ก็อาจจะช่วยเศรษฐกิจไทยให้เติบโตขึ้นตามสมควร” นายจิรวัฒน์ กล่าว
 
 
KBank Private Banking จึงประเมินทิศทางการลงทุน 3 แนวทางเพื่อเตรียมรับมือกับแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2567 ซึ่งได้แก่ 1) เศรษฐกิจโลกจะเติบโตต่อได้ แต่ในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อย (Soft Landing) โดยสหรัฐฯ สามารถเลี่ยงภาวะถดถอย ส่วนยุโรปค่อยๆ ฟื้นตัว  ขณะที่จีนกำลังรอมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม 2) เงินเฟ้อจะลดลง ธนาคารกลางจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย และจะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 2 หรือครึ่งหลังของปี และ 3) ตลาดจะจับตาประเด็นการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ รวมทั้งความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยพอร์ตการลงทุนที่แนะนำคือ เงินลงทุนส่วนใหญ่ (50-70%) ให้ลงทุนเป็นพอร์ตหลักในกองทุนผสมแบบ Risk-based asset allocation และเงินลงทุนในพอร์ตเสริม (30-50%) ให้กระจายลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดีทั้งพันธบัตรและหุ้นกู้ เพราะดอกเบี้ยรับที่สูงกว่าอดีตและโอกาสที่ราคาจะเพิ่มขึ้นเมื่อดอกเบี้ยในตลาดปรับลดลง  ด้านตลาดหุ้นยังมีความท้าทายจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงควรเน้นกองทุนที่บริหารเชิงรุกในหุ้นเติบโตทั่วโลก และหุ้นเอเชียที่ราคาถูกกดดันมามากทั้งในตลาดหุ้นไทย จีน อินเดีย รวมทั้งเวียดนาม สำหรับ Hedge Funds ที่จะช่วยลดความผันผวนและสร้างผลตอบแทนที่ไม่อิงกับภาวะตลาด ควรเน้นสินทรัพย์อ้างอิงในตลาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลหลัก
 
 
ทั้งนี้ จากข้อสังเกตของหุ้นไทย เทียบกับหุ้นต่างประเทศในบริบทของภาพรวมอุตสาหกรรมทั่วโลก ยังเป็นความท้าทายที่ดึงดูดนักลงทุนในตลาดโลกได้น้อยกว่า เนื่องจากหุ้นไทยยังยึดโยงอยู่กับเศรษฐกิจเก่า ทั้งภาคการผลิตและภาคบริโภคเป็นสำคัญ ยังไม่มีตัวเลือกที่เป็นลักษณะของนวัตกรรม หรือ  Information Technology ที่มีในต่างประเทศ ทำให้ปัจจัยบวกที่จะมีส่วนช่วยให้หุ้นไทยเติบโตในระยะยาวได้ คือแนวโน้มที่เศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรปอาจจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจโลกปีหน้าในภาคการบริโภค ซึ่งจะเป็นผลดีกับการส่งออกไทย และในกรณีของตลาดลงทุนโลกที่การคาดการณ์ว่า Fed หรือ ธนาคารกลางสหรัฐ จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วง พ.ค. - ก.ค.ในช่วงปีหน้า 2567 หากมีการลดอัตราดอกเบี้ยลง แล้วตัวเลขเศรษฐกิจเผยออกมาว่าเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวในแบบ Soft Landing จริง ก็จะช่วยให้บรรยากาศของการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกดีขึ้น และหากคาดการณ์ทั้ง 2 ปัจจัยบวกนี้รวมเข้ากับนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทย หุ้นไทยก็อาจได้รับอานิสงส์ ทำผลตอบแทนกลับมาดีขึ้น

 
“ส่วนนโยบายการเก็บภาษีเงินได้ที่จะเริ่มในปี 2567 สำหรับผู้มีรายได้จากต่างประเทศ อ้างอิงตามการประกาศของกรมสรรพสากร และกระทรวงการคลัง ยังคงให้แนวทางไว้ว่า สำหรับเงินได้จากการลงทุนก่อนปี 2566 สามารถนำกลับเข้ามาในปีนี้ได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ส่วนเงินได้จากการลงทุนในปี 2566 หากนำกลับมาในปี 2567 ก็ยังไม่เสียภาษีอยู่ดี ฉะนั้นในตลาดลงทุนไทย จึงเริ่มเห็นเม็ดเงินจากการลงทุนในต่างประเทศที่เกิดขึ้นก่อนปี 2566 ไหลกลับเข้ามาในประเทศ และมีแนวโน้มที่จะมีกระแสเงินไหลกลับเข้ามาในปีหน้า ซึ่งเม็ดเงินลงทุนที่กลับเข้ามาในไทย ทาง KBank Private Banking ได้มีการจัดตั้งกองทุนร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อรองรับการลงทุนในต่างประเทศแบบเดิมที่นักลงทุนคุ้นเคย แต่แค่เปลี่ยนวิธีการลงทุน นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ ทางเรายังไม่กลับมาลงทุนในหุ้นไทยเพิ่ม เพราะปัจจัยทางเทคนิคดังกล่าว ที่ในช่วงระยะสั้น หุ้นไทยยังเสียเปรียบให้กับหุ้นจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่นักลงทุนจะพักเงินไว้กับธุรกิจที่เป็นผู้ชนะในเศรษฐกิจใหม่มากกว่า” นายจิรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ธ.ค. 2566 เวลา : 16:15:33
04-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 4, 2024, 12:18 pm