การค้า-อุตสาหกรรม
อธิบดีอรมน...จับมือผู้บริหารและบุคลากรกรมพัฒนาธุรกิจการค้า...พร้อมลุยงานหนักตลอดปี 2567 เน้นทำงานเป็นทีม...บูรณาการความร่วมมือรัฐ+เอกชน เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งธุรกิจเอสเอ็มอี..หนุนเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คนที่ 30 พร้อมเต็ม 100!!! ลุยงานหนักตลอดปี 2567 จับมือผู้บริหารและบุคลากรกรมพัฒนาธุรกิจการค้าประสานเป็นหนึ่งเดียว..เดินหน้าปฏิบัติภารกิจบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนรัฐเอกชน สนับสนุนการทำงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต้องเร่งสร้างความเข้มแข็ง เสริมองค์ความรู้ที่จำเป็นทุกด้านดันให้เป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ช่วยขยายช่องทางการตลาด พาเจรจาจับคู่ธุรกิจ พร้อมสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจพาผู้ประกอบการไทยติดปีกบินไกลเป็นธุรกิจระหว่างประเทศ ที่สำคัญปี ’67 จะใช้คลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ DBD Data Warehouse+ เป็นพระเอกร่วมขับเคลื่อนธุรกิจ...มีการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจแบบครบวงจรที่เป็นปัจจุบันให้ผู้ประกอบการนำไปใช้เป็นข้อมูลกำหนดนโยบายขยายการลงทุน ค้นหาเครือข่ายพันธมิตรและคู่ค้าทางธุรกิจ พร้อมใช้ตรวจสอบสถานะนิติบุคคลก่อนร่วมลงทุนสร้างความเชื่อมั่นทุกฝ่าย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า..สัญญา..จะปฏิบัติทุกภารกิจด้วยความเต็มที่ ตั้งใจ เต็มร้อย โปร่งใส และเป็นเพื่อนคู่คิดที่ดีแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “หลังเข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คนที่ 30 คิดเสมอว่าทำอย่างไรให้ ‘ภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีความเข้มแข็งพร้อมแข่งขันได้’ และ ‘ประชาชนได้รับความสะดวกจากการบริการภาครัฐ’ ซึ่งต่อมากลายเป็นเป้าประสงค์ในการขับเคลื่อนการทำงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘เป็นองค์กรภาครัฐชั้นนำด้านบริการดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ภายในปี 2570 และสร้างพลังขับเคลื่อนธุรกิจไทยให้ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม’ โดยสิ่งแรกที่ได้บอกกล่าวกับผู้บริหารและบุคลากรกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทุกคน คือ ความสำคัญของการทำงานเป็นทีมที่ต้องประสานให้เป็นหนึ่งเดียว ยอมรับทุกความเห็นที่จะพัฒนางานให้ประสบความสำเร็จ ทำให้ทุกการทำงานผ่านไปด้วยดีและเห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพราะทุกหน่วยงานล้วนมีภารกิจและความเข้มแข็งที่แตกต่างกัน หากร่วมมือกันทำงานจะทำให้เกิดประสิทธิภาพที่สูงขึ้น และทำให้ประสิทธิผลการทำงานสำเร็จลุล่วงตอบสนองความต้องการและเกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและประชาชนสูงสุด

ภารกิจแรกหลังเข้ารับตำแหน่งจึงเน้นการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ หน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานพันธมิตรภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีไทยให้มีความเข้มแข็ง เป็นการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีรายได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น

* ประสานความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผลักดัน อาหารไทย Thai SELECT เป็นซอฟต์พาวเวอร์ประเทศ

* ขอความร่วมมือสถานีบริการน้ำมัน 3 แห่ง (ปตท. บางจาก และ พีที) เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กรมฯ สนับสนุน ได้แก่ แฟรนไชส์ ฟู้ดทรัค ร้านอาหาร Thai SELECT และธุรกิจชุมชน เข้าจำหน่ายสินค้าในสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ

* ร่วมกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีชื่อเสียง เช่น Shopee, LAZADA ช่วยขยายช่องทางการตลาดให้ผู้ประกอบการชุมชน

* ประสานบายเออร์และเทรดเดอร์ชั้นนำรายใหญ่ เช่น เซ็นทรัล เดอะมอลล์ สยามพิวรรธน์ คิงพาวเวอร์ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ และสถานีบริการน้ำมัน ร่วมเวทีเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการชุมชน Smart Local BCG จำนวน 591 คู่ธุรกิจ มูลค่าการเจรจากว่า 113 ล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้สร้างโอกาสทางการค้าและเชื่อมโยงเครือข่ายเอสเอ็มอีด้วยการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ พร้อมส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนด้วยดอกเบี้ยอัตราพิเศษ ผ่านความร่วมมือกับธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจ การใช้จ่าย สร้างอาชีพแก่ผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจและประชาชนทั่วไป โดยงานมหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย คาดว่าจะจัดได้ประมาณปลายเดือนมีนาคม 2567 ในกรุงเทพมหานคร และระยะต่อไปจะออนทัวร์จัดงานให้ครบทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ขยายช่องทางการตลาดและเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการชุมชน

อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า กรมฯ ได้กำหนดแผนงานยกระดับ/อำนวยความสะดวกแก่เอสเอ็มอีไทยและประชาชน ด้วยการพัฒนางานดิจิทัล พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อให้การบริการมีความสะดวก ถูกต้อง รวดเร็ว โดยที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนากระบวนงานบริการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 80 ของงานบริการทั้งหมด เช่น การจดทะเบียนนิติบุคคลสำหรับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด (e-Registration) การนำส่งงบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ระบบจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ (e-Secured) และระบบขอหนังสือรับรองนิติบุคคล (e-Service)

 
โดยในปี 2567 กรมฯ ได้แบ่งภารกิจการยกระดับเอสเอ็มอี อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจและประชาชนภายใต้ภารกิจ 3 ด้าน ประกอบด้วย

ด้านจดทะเบียนธุรกิจ

ระยะสั้น : พัฒนางานบริการเพิ่มเติมและสามารถเปิดให้บริการระบบการจดทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด หรือ e-PCL ซึ่งบริการดังกล่าวเป็นการเพิ่มช่องทางการให้บริการผ่านทางออนไลน์ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สามารถลดระยะเวลาการให้บริการลงได้ ร้อยละ 50 คือ จาก 2 ชั่วโมง เหลือเพียงภายในชั่วโมงเดียว

ระยะกลาง : 1) กลางปี 2567 จะเปิดให้บริการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ภายใต้ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และ การพัฒนาระบบจดทะเบียนสมาคมการค้าและหอการค้าในปีต่อไป 2) พัฒนาการยื่นคำขอจดทะเบียนนิติบุคคลในรูปแบบ e-Form เพื่อการบันทึกข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล ที่มีความง่าย สะดวก ลดการกรอกแบบฟอร์มในรูปแบบกระดาษ 3) พัฒนาการเชื่อมข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมการปกครอง ไปรษณีย์ไทย กรมสรรพากร เพื่อลดระยะเวลาการขออนุญาตของผู้ใช้บริการ และทำให้ข้อมูลทางทะเบียนของกรมฯ เป็นข้อมูลดิจิทัลที่มีความถูกต้อง และทันสมัย

ด้านบริการข้อมูลธุรกิจ 1) พัฒนาการให้บริการหนังสือรับรองในรูปแบบไฟล์ หรือ e-Certificate File ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากยอดการใช้บริการในปี 2565 (มค.-ธ.ค. 65) จำนวน 1.45 ล้านราย เฉลี่ยต่อเดือน 120,000 ราย ปี 2566 (ม.ค-พ.ย.66) เพิ่มขึ้นเป็น 1.838 ล้านราย เฉลี่ยต่อเดือน 167,000 ราย 2) เชื่อมโยงข้อมูลธุรกิจแก่หน่วยงานราชการแบบ Real Time เพื่อการตรวจสอบตัวตนและสถานะของนิติบุคคล ลดภาระประชาชน/ภาคธุรกิจในการขออนุมัติ อนุญาตส่วนราชการ โดยไม่ต้องขอหนังสือรับรองนิติบุคคลและสำเนาเอกสารข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลอีก ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐที่ได้เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว 166 หน่วยงาน เช่น กรมบัญชีกลาง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการจัดหางาน ฯลฯ ทั้งนี้ ปี 2566 (พ.ย.66) มีหน่วยงานที่ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือ 50 ล้านครั้ง เมื่อเทียบกับปี 2565 (มค.-ธ.ค. 65) มีหน่วยงานที่ใช้บริการเพียง 9.5 ล้านครั้ง

ด้านการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ในฐานะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ 10 ฉบับ ได้มีแผนแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบันด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากยิ่งขึ้น

ระยะสั้น : 1) กรมอยู่ระหว่างขอมติ ครม.เห็นชอบร่างกฎหมายของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อลดต้นทุน และอำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจ เช่น ร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยหอการค้าบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. .... (ยกเลิกค่าธรรมเนียมหอการค้า) และร่างกฎกระทรวงลดอัตราค่าธรรมเนียม สำหรับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ พ.ศ. ....

ระยะกลาง : 1) ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เช่น พิจารณายกเลิกการจดทะเบียนพาณิชยกิจประเภทซีดี เนื่องจากพระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ. 2548 ได้ถูกยกเลิกแล้ว จึงหมดความจำเป็นที่จะควบคุมผู้ประกอบการดังกล่าว เป็นต้น 2) ทบทวนการปรับปรุงกฎหมายด้านบัญชีและวิชาชีพบัญชีให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจในยุค Digital Economy ได้แก่ พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดทำบัญชีและงบการเงินของธุรกิจ รวมถึงพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ให้สอดคล้องกับหลักการ และมาตรฐานทางวิชาชีพบัญชีที่เปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบัน และแนวโน้มทางวิชาชีพบัญชีในอนาคต

กรมฯ ยังคงให้ความสำคัญต่อการสร้างธรรมาภิบาลแก่ภาคธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และเกิดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้ง กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการเข้ามาของกลุ่มทุนผิดกฎหมาย

ระยะสั้น : ร่วมเป็นเครือข่ายพันธมิตรการแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ระหว่าง 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้การดำเนินงานด้านการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล การกำกับดูแลและการป้องปราม การส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว และการจัดศูนย์ปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหาฯ มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยได้ลงนามใน MOU ร่วมกัน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา และจะมีการหารือร่วมกันในแผนการปฏิบัติงานร่วมกันต่อไป

ระยะกลาง : วางแนวทางการป้องปรามธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี ตั้งแต่ขั้นตอนการจดทะเบียน โดยก่อนจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล กรมฯ จะตรวจสอบเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนไทยที่ลงทุนหรือถือหุ้นในนิติบุคคลร่วมกับคนต่างด้าวเพื่อแสดงความน่าเชื่อถือว่าคนไทยที่ร่วมลงทุนมีฐานะทางการเงินที่สามารถลงทุนด้วยตนเองได้ และเมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วกรมฯยังกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องเป็นแผนงานโครงการตรวจสอบประจำปี โดยคัดเลือกกลุ่มเสี่ยงที่มีข้อบ่งชี้ว่าอาจเป็นการประกอบธุรกิจตามบัญชีท้ายโดยให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) เพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เช่น ธุรกิจที่คนต่างด้าวถือหุ้นไม่ถึงร้อยละ 50 ธุรกิจมีคนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการ การกำหนดให้สิทธิคนต่างด้าวมากกว่าคนไทยไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิการออกเสียงลงคะแนน สิทธิการรับเงินปันผล รวมทั้งสิทธิการรับคืนทุนเมื่อเลิกกิจการ เป็นต้น นอกจากนี้ กรมฯ ยังนำเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจตัวอย่างเช่นการกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินแก่คนต่างด้าวโดยมีเงื่อนไขที่ผิดปกติในทางการค้าหรือทางธุรกิจการเงินทั่วไปมาประกอบการพิจารณาด้วย

นอกจากนี้ ยังให้การส่งเสริมธรรมาภิบาลธุรกิจไทย ผ่านการมอบเครื่องหมายรับรอง ‘เกณฑ์มาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ’ เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินธุรกิจมุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจ และการพัฒนาสังคมควบคู่กัน ไม่ได้เน้นผลกำไรแต่อย่างเดียว แต่คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือแนวคิด ESG (Environment, Social, Governance) ด้วย ปัจจุบันมีผู้ได้รับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพจากกรมฯ แล้ว 220 ธุรกิจ รวมทั้ง ขยายความร่วมมือกับสำนักงานบัญชี และสภาวิชาชีพบัญชี เพิ่มจำนวนสำนักงานบัญชีคุณภาพ ปัจจุบันมีจำนวน 164 สำนักงาน และการส่งเสริมสำนักงานบัญชีดิจิทัลร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมส่งเสริมธรรมาภิบาลภาคธุรกิจ ส่งเสริมให้นิติบุคคลมีการจัดทำรายงานทางการเงินที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล นำไปสู่ความน่าเชื่อถือของภาคธุรกิจไทยอีกทางหนึ่งด้วย

 
ไฮไลท์สำคัญของการดำเนินงานปี 2567 อีกประการหนึ่ง คือ การชูคลังข้อมูลธุรกิจ หรือ DBD Data Warehouse+ ของกรมฯ ซึ่งเป็นคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศมาร่วมขับเคลื่อนธุรกิจไทย โดยภายในจะมีข้อมูลการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจแบบครบวงจรที่เป็นปัจจุบัน ธุรกิจที่น่าสนใจ ตลอดจนผลประกอบการของธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้เป็นข้อมูลกำหนดนโยบายขยายธุรกิจ หรือวางแผนการลงทุนในอนาคต ใช้ค้นหาเครือข่ายพันธมิตร และคู่ค้าทางธุรกิจ ฯลฯ ตรวจสอบสถานะนิติบุคคลก่อนร่วมลงทุนสร้างความเชื่อมั่นทุกฝ่าย ทั้งนี้ กรมฯ พร้อมส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเห็นความสำคัญของการนำข้อมูลในคลังข้อมูลธุรกิจไปใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มประสิทธิภาพ และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดการลงทุนบนพื้นฐานแห่งความเชื่อมั่นโดยมีข้อมูลธุรกิจของกรมฯ เป็นฉากทัศน์สำคัญประกอบการตัดสินใจดำเนินธุรกิจ

ล่าสุด กรมฯ ได้นำข้อมูลจากคลังข้อมูลธุรกิจมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจเชิงลึกเพื่อเฟ้นหาธุรกิจดาวเด่น 5 ธุรกิจ / ธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ ในปี 2566 รวมทั้ง วิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ ปี 2567 โดยใช้ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์จากหลายภาคส่วน เช่น จำนวน/อัตราการเติบโตของการจัดตั้ง อัตราการเลิก การเพิ่มปริมาณการลงทุนของธุรกิจ (จำนวนการเพิ่มทุนจดทะเบียน) และข้อมูลจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ แนวโน้มธุรกิจ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ ดัชนีทางเศรษฐกิจ ร่วมกับสถานการณ์ภาพรวมของประเทศ ผลการวิเคราะห์สรุปได้ดังนี้

ปี 2566 ธุรกิจดาวเด่นที่มาแรงส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศและของโลก โดยเฉพาะธุรกิจที่เคยประสบปัญหาช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้กลับมาฟื้นตัวจนมีความโดดเด่นอีกครั้ง ขณะที่ ธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยจะสอดคล้องกับกระแสธุรกิจรักษ์โลกและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยมีผลจากเทคโนโลยีดิจิทัล บริการ รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบและเปลี่ยนแปลงมูลค่าบริการและสินค้าที่มีอยู่ของอุตสาหกรรมเดิม (Digital Disruption) ประกอบด้วย

ปี 2566 ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและมาแรง 5 ธุรกิจ ประกอบด้วย

1. กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว (เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 64) ได้แก่ ธุรกิจจัดนำเที่ยว ตัวแทนธุรกิจการเดินทาง โรงแรม รีสอร์ท ห้องชุด สปา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

2. กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 36) ได้แก่ ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

3. กลุ่มธุรกิจสมุนไพร (เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 33) ได้แก่ การปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค พืชทางเภสัชภัณฑ์ และการผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ที่ใช้รักษาโรค

4. กลุ่มธุรกิจการติดตั้งไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 25) ได้แก่ ธุรกิจการติดตั้งไฟฟ้า การผลิต ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ การขายส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์

5. กลุ่มธุรกิจ e-Commerce หรือ ธุรกิจการค้าปลีกสินค้าออนไลน์ (เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 19)

ปี 2566 ธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ ประกอบด้วย

1. กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเคมีภัณฑ์ (เติบโตลดลงร้อยละ 30) ได้แก่ ธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก การผลิต ปุ๋ยเคมีและการผลิตเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ขั้นมูลฐาน

2. กลุ่มธุรกิจขายปลีกสินค้าในร้านค้า หรือ ธุรกิจการค้าปลีกช่องทางออฟไลน์ (เติบโตลดลงร้อยละ 12)

3. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงสันดาป (เติบโตลดลงร้อยละ 5) ได้แก่ ธุรกิจการขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในสถานี หรือ สถานีบริการน้ำมัน การขายส่งเชื้อเพลิงแข็ง/เหลว และการทำเหมืองแร่ เหมืองแร่อโลหะและเหมืองหิน

ปี 2567 ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและน่าจับตามอง สามารถแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ 9 ประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับผลดีจากปัจจัยบวกในการเปิดประเทศและมาตรการสนับสนุนภาครัฐที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องสามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ สร้างโอกาส และรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ

1. ธุรกิจท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ห้องชุด เกสต์เฮ้าส์ ธุรกิจจัดนำเที่ยว ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา ธุรกิจตัวแทนการเดินทาง

2. ธุรกิจการจัดประชุม แสดงสินค้า คอนเสิร์ต เช่น ธุรกิจการจัดแสดงทางธุรกิจและสินค้า ธุรกิจการจัดประชุม ธุรกิจจัดงานเลี้ยง ธุรกิจกิจกรรมด้านความบันเทิง

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ การรักษารูปร่าง หน้าตา และการดูแลสุขภาพของบุคคล สำหรับกลุ่มที่มีความต้องการดูแลเป็นพิเศษ มีประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

1. ธุรกิจสุขภาพและความงาม เช่น ธุรกิจปลูกพืช เครื่องเทศ เครื่องหอมยารักษาโรค ธุรกิจโรงพยาบาล คลินิกโรคเฉพาะทาง ธุรกิจขายปลีก/ส่งเภสัชภัณฑ์และเวชภัณฑ์

2. ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจสถานที่ดูแลรักษาสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจบริการจัดหาที่พักให้ ธุรกิจสังคมสงเคราะห์โดยไม่มีที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องรูปแบบการใช้ชีวิต

กลุ่มธุรกิจนี้ ถือเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน มีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา โดยประเภทธุรกิจที่น่าสนใจประกอบด้วย

1. ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น ธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยง ธุรกิจขายปลีกอาหารและอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ธุรกิจขายส่งอาหารสัตว์

2. ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์

เป็นกลุ่มธุรกิจตอบโจทย์โลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและนวัตกรรม ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ครอบคลุมทุกช่วงวัยของประชากรในสังคม มีมูลค่าทางการตลาดระดับสูง โดยมีประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

1. ธุรกิจบริการ e-Commerce ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต และธุรกิจตลาดกลางในการซื้อขายออนไลน์

2. ธุรกิจบริการชำระเงินแบบดิจิทัล ได้แก่ ธุรกิจการประมวลผลและการเรียกชำระเงินสำหรับธุรกรรมทางการเงิน เป็นธุรกิจให้บริการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์

3. ธุรกิจซอฟต์แวร์ เช่น ธุรกิจจัดทำโปรแกรมเว็บเพจ ธุรกิจจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ธุรกิจให้คำปรึกษาทางด้านซอฟต์แวร์

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ทำการสรุป 5 อันดับประเทศที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมากที่สุด พร้อมประเภทธุรกิจที่สนใจลงทุน

ในปี 2566 (มกราคม - พฤศจิกายน) มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 546,855.90 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการลงทุนเป็นไทย 539,905.40 ล้านบาท คิดเป็น 98.73% และต่างประเทศ 6,950.49 ล้านบาท คิดเป็น 1.27% ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงประเทศที่เข้ามาลงทุนผ่านการจดทะเบียนนิติบุคคลตามกฎหมายไทยดังกล่าว พบว่าประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนผ่านการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

1. จีน มูลค่าการลงทุน 1,880.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 233.60 % เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเวลา เดียวกันของปีที่ผ่านมา (มกราคม - พฤศจิกายน 2565 มีมูลค่าการลงทุน 563.72 ล้านบาท)

ประเภทธุรกิจทีมีการลงทุนสูงสุด ได้แก่ 1) การผลิตอุปกรณ์ควบคุมและจ่ายไฟฟ้า 634 ล้านบาท 2) การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าแผ่น 340 ล้านบาท 3) การผลิตเครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป 260 ล้านบาท 4) กิจกรรมงานวิศวกรรมและการให้คำปรึกษาทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง 64.90 ล้านบาท 5) การผลิตเครื่องมือที่ใช้งานด้วยมือและเครื่องโลหะทั่วไป 50 ล้านบาท

2. สิงคโปร์ มูลค่าการลงทุน 703.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 320.66 % เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเวลา เดียวกันของปีที่ผ่านมา (มกราคม - พฤศจิกายน 2565 มีมูลค่าการลงทุน 167.27ล้านบาท) ประเภทธุรกิจทีมีการลงทุนสูงสุด ได้แก่ 1) กิจกรรมงานวิศวกรรมและให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้อง 540 ล้านบาท 2) การผลิตเครื่องมือที่ใช้พลังงานขับเคลื่อน 133 ล้านบาท 3) การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ 5.20 ล้านบาท 4) การผลิตแผ่นไม้บางและผลิตภัณฑ์ไม้5 ล้านบาท 5) การผลิตผลิตภัณฑ์เคมีอื่นๆ 5 ล้านบาท

3. จีน-ฮ่องกง มูลค่าการลงทุน 523.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 729.52 % เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มกราคม - พฤศจิกายน 2565 มีมูลค่าการลงทุน 63.07 ล้านบาท) ประเภทธุรกิจที่มีการลงทุนสูงสุด ได้แก่ 1) การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ 514.80 ล้านบาท 2) การผลิตเม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้น 3 ล้านบาท 3) กิจกรรมการให้คำปรึกษาทางด้านฮาร์ดแวร์3 ล้านบาท 4) การขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใช้ในครัวเรือน 0.98 ล้านบาท 5) การขายส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 0.98 ล้านบาท

4. เมียนมา มูลค่าการลงทุน 136.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 401.73 % เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเวลา เดียวกันของปีที่ผ่านมา (มกราคม - พฤศจิกายน 2565 มีมูลค่าการลงทุน 27.12 ล้านบาท) ประเภทธุรกิจทีมีการลงทุนสูงสุด ได้แก่ 1) การขายส่งข้าวเปลือกและธัญพืชอื่นๆ 100 ล้านบาท 2) การขายส่งสินค้าทั่วไป 13 ล้านบาท 3) การขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรถกระบะรถตู้ และรถขนาดเล็ก10 ล้านบาท 4) การขายส่งอุปกรณ์ขนส่ง (ยกเว้นยานยนต์จักรยานยนต์และจักรยาน) 2 ล้านบาท 5) การขายส่งยางพาราและพลาสติกขั้นต้น 2 ล้านบาท

5. เยอรมนี มูลค่าการลงทุน 99.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,538.97 % เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มกราคม - พฤศจิกายน 2565 มีมูลค่าการลงทุน 1.30 ล้านบาท) ประเภทธุรกิจทีมีการลงทุนสูงสุด ได้แก่ 1) การผลิตแบตเตอรี่และหม้อสะสมไฟฟ้า 90 ล้านบาท 2) กิจกรรมให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่น 1.48 ล้านบาท 3) การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย1.47 ล้านบาท 4) กิจกรรมการทำความสะอาดพื้นผิวภายนอกอาคาร 1.47 ล้านบาท 5) การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองเพื่อการพักอาศัย 0.98 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายภารกิจที่จะดำเนินการในปี 2567 ทั้งการพัฒนางานการให้บริการที่ดียิ่งขึ้นและสร้างงานใหม่ให้สอดรับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยกรมฯ พร้อมฟังทุกเสียงของคนในสังคม (Social Listening) เพื่อนำมาพัฒนางานให้ก้าวหน้าตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจและประชาชน พร้อมให้สัญญาว่าจะปฏิบัติทุกภารกิจด้วยความเต็มที่ ตั้งใจ เต็มร้อย โปร่งใส และเป็นเพื่อนคู่คิดที่ดีแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนตลอดไป” อธิบดีอรมนกล่าวทิ้งท้าย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ธ.ค. 2566 เวลา : 21:18:59
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 3:57 am