วิทยาศาสตร์
ไบโอเทค ร่วมกับ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร จัดอบรม "จุลินทรีย์มหัศจรรย์คุมโรคพืช" เสริมความรู้สร้างทักษะวิจัยแก่เยาวชนชั้น ม.ปลาย


ในช่วงใกล้ส่งท้ายปี เมื่อเร็ว ๆ นี้ (ระหว่างวันที่ 12 - 14 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา) ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมจัดกิจกรรมฝึกอบรมเฉพาะทาง “จุลินทรีย์มหัศจรรย์คุมโรคพืช” โดยมีนักเรียนชั้นมัธยมปลายสายวิทย์จากทั่วประเทศกว่า 20 คนเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับจุลินทรีย์ โรคพืช และชีวภัณฑ์ควบคุมโรคพืช รวมถึงได้รับประสบการณ์ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับจุลินทรีย์ ลงมือปฏิบัติงานด้วยตัวเองในห้องแล็บ ทดลองทำวิจัยจริง เห็นผลจริง รับถ่ายทอดความรู้จากพี่ ๆ นักวิจัยโดยตรง หวังช่วยจุดประกายพร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ เยาวชนสามารถนำไปต่อยอดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ หรือเป็นแนวทางศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ตลอดจนประกอบอาชีพในอนาคตได้

ดร.จันทิรา ปัญญา นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายบริหารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. ได้ให้ข้อมูลว่า ในแต่ละปีพืชเศรษฐกิจของไทยเกิดความเสียหายจากโรคพืชเป็นมูลค่ามหาศาล และเกษตรกรส่วนใหญ่แก้ไขปัญหานี้โดยการใช้สารเคมีซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นพิษสารตกค้างทั้งในตัวผลผลิตและในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อทั้งผู้บริโภคและตัวเกษตรกรเอง การใช้ชีวภัณฑ์ (Biocontrol) จากจุลินทรีย์ เช่น รา แบคทีเรีย และไวรัส ในการควบคุมหรือกำจัดโรคพืช จึงเป็นปัจจัยทางเลือกหนึ่งที่สามารถลดหรือทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านจุลชีววิทยาการเกษตรเกี่ยวกับโรคพืชและการควบคุมโรคพืชด้วยจุลินทรีย์ชีวภัณฑ์ ให้กับเยาวชนที่สนใจ สวทช. โดยฝ่ายบริหารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ด้านพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงร่วมกับทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค ออกแบบหลักสูตรเสริมการเรียนรู้ทางด้านการใช้สารชีวภัณฑ์ควบคุมเชื้อก่อโรคในพืช ภายใต้หัวข้อ “จุลินทรีย์มหัศจรรย์คุมโรคพืช”

 
หนึ่งในทีมวิทยากร นางสาวรัศมี หวะสุวรรณ ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า กิจกรรมอบรมครั้งนี้เน้นในเรื่องจุลินทรีย์มหัศจรรย์ที่ใช้ในการควบคุมโรคพืช จุลินทรีย์หลัก ๆ คือ Trichoderma (ไตรโคเดอร์มา) ตัวแบคทีเรียที่เป็น Streptomyces (สเตรปโตมัยซีส) และแบคทีเรีย Bacillus (บาซิลลัส) ซึ่งทั้ง 3 ตัวเป็นจุลินทรีย์ที่ใช้ในการควบคุมโรคพืช ที่ทางทีมวิจัยได้คัดเลือกมาแล้ว และมีประสิทธิภาพนำมาสอนน้อง ๆ เยาวชน รวมถึงยังมีจุลินทรีย์ในการควบคุมศัตรูพืชอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแมลง ตัวไส้เดือนฝอย และวัชพืช โดยมุ่งหวังให้เยาวชนที่เข้าอบรมได้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้สารชีวภัณฑ์ที่เป็นจุลินทรีย์ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้รวมถึงผู้บริโภค เป็นทางเลือกให้นำไปเผยแพร่ เพราะการใช้ชีวภัณฑ์นั้นมีประโยชน์และเป็นทางเลือกทดแทนการใช้สารเคมีได้ นอกจากนี้ ยังหวังให้มีส่วนสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ เยาวชนเกิดความรู้ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้นด้วย

 
 
ด้านตัวแทนเยาวชนที่ร่วมกิจกรรม นางสาวธนภร สร้อยทอง นักเรียนชั้นมัธยมปลายสายวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี เล่าว่า กิจกรรมอบรมเฉพาะทางครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้ ไอเดีย และแรงบันดาลใจจากพี่ ๆ ทีมวิจัย ได้เรียนรู้เทคนิคเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจุลินทรีย์ ซึ่งการมีทีมวิจัยที่มีประสบการณ์จริง การทดลองจริง เป็นโอกาสในการเรียนรู้ที่นอกเหนือจากหลักสูตรในห้องเรียน สามารถนำความรู้ส่วนนี้ไปปรับใช้เป็นทักษะต่อยอดทำโครงงานวิจัยได้เป็นอย่างมาก

 
 
กิจกรรมฝึกอบรมเฉพาะทาง “จุลินทรีย์มหัศจรรย์คุมโรคพืช” น้อง ๆ เยาวชนชั้น ม.ปลาย ได้มีโอกาสเรียนรู้ เข้าใจแบบเจาะลึก และลงมือทำ ตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงเชื้อ การนับจำนวนเชื้อ ไปจนถึงการสังเกตุเชื้อโรคพืชด้วยตัวเอง ร่วมกับพี่ ๆ นักวิจัยจากทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค เนื้อหาการอบรมระดับพื้นฐาน มีทั้งการเสริมความรู้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับจุลินทรีย์ ความรู้ด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ และวิธีปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพในห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยา รวมไปถึงเทคนิคเบื้องต้นทางจุลชีววิทยา อาทิ เทคนิคปลอดเชื้อ (Aseptic Techniques) และการนับสปอร์เชื้อรา, การนับจำนวนแบคทีเรีย ความรู้ในเรื่องโรคพืช และเชื้อก่อโรคในพืช, ความรู้ในเรื่องสารชีวภัณฑ์ความคุมเชื้อก่อโรคพืช (Plant biocontrol) เป็นต้น โดยรูปแบบของกิจกรรมจะเป็นการบรรยายสลับกับการลงมือทำในห้องปฏิบัติการจริง เช่น การเลี้ยงเชื้อในอาหารวุ้น การทดสอบการยับยั้งเชื้อก่อโรคพืชด้วยราไตรโคเดอร์มาบนต้นอ่อนพริก การทดสอบการยับยั้งเชื้อก่อโรคพืชด้วยเชื้อแบคทีเรีย Streptomyces ด้วยวิธี Dual culture บนจานอาหารวุ้น เทคนิคการถ่ายเชื้อรูปแบบต่าง ๆ streak plate, spread plate / การทดลองสังเกตเชื้อก่อโรคในพืชภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เป็นต้น

 
 
ทั้งนี้ การใช้สารชีวภัณฑ์ควบคุมเชื้อก่อโรคในพืช มีทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค ที่ทำการวิจัยและพัฒนาในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่แฟนเพจชีวภัณฑ์ไบโอเทค เพื่อผักผลไม้ปลอดภัย www.facebook.com/BIOTEC.Biocontrol รวมถึงบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร มีค่ายวิทยาศาสตร์และกิจกรรมฝึกอบรมความรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เด็กและเยาวชนอีกเป็นจำนวนมาก ติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้ที่ และ www.nstda.or.th/ssh และ www.facebook.com/SSH.NSTDA
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ธ.ค. 2566 เวลา : 13:53:52
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 2:12 am