การค้า-อุตสาหกรรม
'ภูมิธรรม' หารือทูตสหรัฐฯ ดันต่ออายุโครงการ GSP หนุนปลดไทยออกจาก WL พร้อมกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ


‘ภูมิธรรม’ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ หารือเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ พร้อมหารือกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เน้นย้ำการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA เร่งรัดการต่ออายุโครงการ GSP และการปลดไทยออกจาก WL

 
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 ณ กระทรวงพาณิชย์ ว่าเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายได้พบหารือกันหลังจากที่ได้เข้ารับตำแหน่ง โดยเน้นย้ำว่าไทยและสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมายาวนานกว่า 190 ปี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมให้ความร่วมมือกับสถานทูตสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน

 
นายภูมิธรรม กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ ได้กล่าวถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของไทย อาทิ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ การสร้างดุลยภาพของทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค ให้สามารถได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Digital Wallet การส่งเสริม MSMEs การมุ่งแก้ไข/ปรับปรุงข้อจำกัดทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทางการค้า การผลักดันการส่งออก ตลอดจนการใช้ประโยชน์จาก FTA

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน โดยไทยพร้อมเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของสหรัฐฯ เช่น ดิจิทัล AI อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด การบิน ยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น ด้านสหรัฐฯ พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนของสหรัฐฯ ให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นด้วย

 
นายภูมิธรรม เสริมว่า ไทยได้แสดงความยินดีต่อการเจรจาความตกลง IPEF ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าที่ดี และพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ และประเทศหุ้นส่วนในการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปความตกลง IPEF ร่วมกันในเสาที่ 1 เรื่องการค้า (Pillar 1 Trade) ต่อไป นอกจากนี้ ไทยยังได้ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาเร่งรัดการต่ออายุการให้สิทธิ GSP ที่ได้หมดอายุไปเมื่อปลายปี 2563 ให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ อีกทั้งขอให้สหรัฐฯ เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาในด้านต่าง ๆ รวมถึงการตอบสนองต่อทุกข้อกังวลของผู้มีส่วนได้เสีย และขอให้ยืนยันผลการทำงานที่ผ่านมา รวมทั้งสนับสนุนให้ไทยหลุดจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) และจากทุกบัญชีให้ได้ต่อไป

 
ในปี 2565 สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทย รองจากจีน โดยมีมูลค่าการค้ารวม 65,277.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย การส่งออกไปสหรัฐฯ มีมูลค่า 47,534.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ อัญมณีและเครื่องประดับเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขณะที่สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าลำดับ 3 ของไทย การนำเข้าจากสหรัฐฯ มีมูลค่า 17,743.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ม.ค. 2567 เวลา : 19:29:22
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 2:34 am