การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
เริ่มแล้ว!! นายกฯ คิกออฟบัตร ปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่ 4 จังหวัดนำร่อง ตั้งเป้าขยายทั่วประเทศใน 1 ปี


นายกรัฐมนตรี คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว นำร่องพร้อมกัน 4 จังหวัด ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี นราธิวาส หลังเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยบริการทุกระดับทั้งรัฐและเอกชน ช่วยประชาชนเข้าถึงบริการสะดวก ลดขั้นตอน-ความแออัด-ความเหลื่อมล้ำ เร่งเก็บข้อมูลขยายผลระยะที่ 2 อีก 8 จังหวัด และทั่วประเทศใน 1 ปี

 
วันนี้ (7 มกราคม 2567) ที่ลานสาเกตนคร หน้าหอโหวด 101 จ.ร้อยเอ็ด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิธีเปิดตัวนโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารในพื้นที่ บุคลากรสาธารณสุข ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น อสม. ชมรมผู้สูงอายุ และประชาชน จำนวน 10,101 คน เข้าร่วมพิธีเปิด พร้อมกับอีก 3 จังหวัดนำร่อง คือ แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส

 
นายเศรษฐา กล่าวว่า การยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกที่ทั้งรัฐและเอกชน เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และเป็นนโยบายเน้นหนักของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากหน่วยบริการทุกระดับ ทุกสังกัด และยกระดับหน่วยบริการให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้จัดบริการสุขภาพ อาทิ ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ การออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ใบสั่งยาและใบสั่งแล็บออนไลน์ การแพทย์และเภสัชกรรมทางไกล การนัดหมายออนไลน์ ส่งยาและเวชภัณฑ์ที่บ้านผ่าน Health Rider และการส่งยาทางไปรษณีย์ เป็นต้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดระยะเวลารอคอย และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชน

 
“หวังว่านโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จะช่วยให้คนไทยทุกคนได้รับการดูแลสุขภาพได้ทุกที่ ให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง มีพลังในการดำเนินชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป ซึ่งต้องขอขอบคุณทั้งภาครัฐ เอกชน สภาวิชาชีพต่างๆ ประชาชน และ อสม. ทั้งในจังหวัดร้อยเอ็ดและอีก 3 จังหวัดนำร่อง ที่ช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้สำเร็จเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพของประชาชนไทย” นายเศรษฐา กล่าว
 
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ประเทศไทยขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค มาตั้งแต่ปี 2544 เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยในการรับบริการสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยและส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ถือเป็นนโยบายสาธารณสุขที่สำคัญและมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ประชาชนคลายความกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ สามารถลดครัวเรือนที่ยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพจาก 250,000 ครัวเรือนในปี 2531 เป็น 49,300 ครัวเรือน ในปี 2564 ซึ่งการขับเคลื่อนต่อจากนี้ คือ การยกระดับเป็น 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อให้คนไทยเข้ารับบริการสุขภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการได้ทั้งโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน คลินิก แล็บและร้านยาใกล้บ้าน เชื่อว่านโยบายนี้จะทำให้คนไทยทุกคนได้รับการส่งเสริมสุขภาพ ควบคุม ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุข

 
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ที่ผ่านมา เมื่อประชาชนจำเป็นต้องเปลี่ยนหน่วยบริการ จะพบปัญหาเรื่องการเข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาล เนื่องจากข้อมูลการรับบริการทางการแพทย์ของแต่ละหน่วยบริการไม่เชื่อมโยงกัน ทำให้ประชาชนต้องเสียเวลาในการรวบรวมข้อมูลการรักษาของตนเองจากสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งทั้งไม่สะดวกและเป็นภาระค่าใช้จ่ายแฝง ขณะที่แพทย์ผู้รักษามักจะได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการรักษา ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นประวัติการรักษา ประวัติการแพ้ยา การได้รับวัคซีน ผลทางห้องปฏิบัติการที่ผ่านมา เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการรักษาในหน่วยบริการอื่นเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน รัฐบาลจึงยกระดับระบบ 30 บาท ให้สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชน โดยพัฒนาระบบบริการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพจากหน่วยบริการทุกระดับ ช่วยให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและคุณภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ เพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้

 
“กระทรวงสาธารณสุข กำหนดขับเคลื่อนใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี นราธิวาส และร้อยเอ็ด จากนั้นระยะที่ 2 จะขยายอีก 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา และขยายทั่วประเทศภายใน 1 ปี โดยจัดงานเปิดตัวขึ้นที่ร้อยเอ็ด พร้อมกับอีก 3 จังหวัดนำร่อง เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ซึ่งวันนี้ได้มีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลจตุรพักตร์พิมาน ร้านยา ร้านแล็บ คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม และโรงพยาบาลร้อยเอ็ด พบว่ามีความพร้อมในการขับเคลื่อนเต็มร้อย” นพ.ชลน่าน กล่าว

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิทัลมาประยุกต์ใช้ในงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศให้เจริญก้าวหน้าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน และลดภาระงานของบุคลากร จึงกำหนดให้เรื่องดิจิทัลสุขภาพเป็นหนึ่งในนโยบายการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายหลักในการยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งจะมีถอดบทเรียนการดำเนินงานใน 4 จังหวัดนำร่อง เพื่อนำไปขยายผลอีก 8 จังหวัดในระยะที่ 2 และขยายครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ม.ค. 2567 เวลา : 10:40:10
04-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 4, 2024, 2:22 am