สุขภาพ
'ยานวัตกรรม' ทางเลือกและความหวัง กับโอกาสในการเข้าถึงของผู้ป่วย


ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่เพียงช่วยให้ชีวิตประจำวันและสุขภาพของผู้คนดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน โลกทางการแพทย์ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายจากโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน ทั้งโรคใหม่ ๆ และโรคร้ายแรงที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด แม้ว่าหลายคนจะดูแลสุขภาพตัวเองอย่างดีก็ตาม แต่ความเป็นไปได้ที่จะเจ็บป่วยนั้นยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่หลายประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ด้วยเหตุนี้ ค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาสุขภาพจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 
‘ยานวัตกรรม’ ความหวังของผู้ป่วยที่มาพร้อมต้นทุน
 
ด้วยการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ และโรค NCDs (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น 'ยานวัตกรรม' จึงกลายเป็นทางเลือกที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการรักษา ป้องกัน หรือบรรเทาอาการป่วยที่ยากต่อการรักษา ยานวัตกรรมที่แท้จริงนั้นไม่ใช่การนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่มาแต่งเติม เปลี่ยนรูปร่าง หรือทำให้เหมือนใหม่ แต่จะต้องเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยจะต้องผ่านกระบวนการของนวัตกรรม การทดลอง วิจัยและพัฒนาซ้ำ จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ เช่น ยานวัตกรรมที่ใช้ในการรักษาโรคเอดส์ โรคมะเร็ง วัคซีนป้องกันโควิด-19 ไข้เลือดออก งูสวัด ซึ่งเป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาโดยตรง รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่สามารถใช้ยานวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงเข้ามาช่วยในการรักษา
 

 
แม้ยานวัตกรรมจะมีประสิทธิภาพสูง แต่ก็ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายและเวลาในการวิจัยและพัฒนาที่มาก เบื้องหลังความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนา และยานวัตกรรม ก็มีกลุ่มคนและองค์กรผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังมากมาย หนึ่งในนั้นคือสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (Pharmaceutical Research & Manufacturers Association) หรือ 'PReMA'
 
ที่มีประสบการณ์ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยามานานกว่า 50 ปี มีสมาชิกซึ่งเป็นบริษัทที่มุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนายาใหม่ ๆ กว่า 28 รายทั่วโลก เช่น ไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า และจีเอสเค เป็นต้น โดยมีเป้าหมายที่จะต่อสู้กับโรคภัยที่ยังไม่มีวิธีรักษา และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคให้ดียิ่งขึ้น
 
“ยามีบทบาทสำคัญในการตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ ไม่ว่าจะป้องกันหรือรักษาโรค โดยเฉพาะโรคใหม่ๆ ที่ทุกวันนี้ยังไม่มียารักษา ถ้าไม่มีบริษัทยาที่ให้ความสำคัญและลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อที่จะหาทางป้องกันและรักษาโรคเหล่านี้ ก็จะทำให้เราต้องเจอกับปัญหาสุขภาพเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องโควิด-19 เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นความสำคัญว่า เราจำเป็นที่จะต้องลงทุนและมียานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ปัญหาทางสุขภาพใหม่ๆ”

 
นันทิวัต ธรรมหทัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) เผยมุมมองต่อความสำคัญในการวิจัยและพัฒนายานวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจหลักของ PReMA ที่ต้องการให้คนไทยสามารถเข้าถึงยานวัตกรรม และเสริมสร้างความก้าวหน้าทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขอย่างยั่งยืน
 
อีกทั้งยังต้องการผลักดันนักวิจัยไทยให้มีส่วนร่วมในงานวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยาระดับสากล เพื่อเสริมสร้างสุขภาพดีให้คนไทย และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยอีกด้วย
 
 
โอกาสการเข้าถึง ‘ยานวัตกรรม’ สำหรับคนไทย
 
การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมักจะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ดังนั้น การหายเร็วจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ในทางกลับกัน ยานวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาและลดการลุกลามของโรคได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือยาเหล่านี้ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย เนื่องจากมีราคาที่สูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ผลิตยานวัตกรรมส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากต่างประเทศ และผู้ผลิตในไทยต้องรอจนกว่าสิทธิบัตรยาจะหมดอายุ ซึ่งอาจนานถึง 20 ปี ด้วยเหตุนี้ เมื่อสิทธิบัตรหมดอายุ ยาจะมีราคาที่ต่ำลง และคนทั่วไปจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ยานวัตกรรมจึงถือเป็นความหวังสำหรับผู้ป่วยในการลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการ รวมถึงช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
 
 
เพื่อให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงยานวัตกรรมได้มากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในการวิจัยและพัฒนายาจากภาคเอกชน รวมถึงการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาล เพื่อสร้างระบบที่เอื้อประโยชน์ให้การเข้าถึงยานวัตกรรมเป็นไปได้สะดวกมากขึ้น โดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านับเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

 
“สำหรับผู้ป่วย ยานวัตกรรมไม่ใช่เพียงแค่ยา แต่เป็นความหวังในการหายจากโรค การทำให้ระบบการลงทุนและนวัตกรรมยาสมดุลนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของยา เพื่อให้ระบบสุขภาพสามารถจัดสรรยานวัตกรรมได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่มีคุณภาพได้มากยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกัน การจัดสรรงบประมาณสำหรับนวัตกรรมยาควรคำนึงถึงความสามารถในการรักษาที่ได้ผลสูงสุด พร้อมทั้งต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ตามความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต”
 
 
‘ยานวัตกรรม’ กับโอกาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

เนื่องจากยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการดูแลสุขภาพ สมาชิก PReMA จึงทุ่มเทในการผลักดันการพัฒนาด้านสาธารณสุขผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมสุขภาพของคนไทยให้มั่นคงและยั่งยืน ผ่านการวิจัยและพัฒนายาใหม่ ๆ ภายใต้ความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน การดำเนินงานของ PReMA ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์
 
ในเรื่องของการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ยังส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจด้วย โดยการดึงดูดบริษัทเภสัชภัณฑ์จากต่างประเทศมาลงทุนในเทคโนโลยีสุขภาพของไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์แล้ว ยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ ในประเทศอีกด้วย
 
“ประเทศไทยมีชื่อเสียงในเรื่องระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง ด้วยคุณภาพโรงพยาบาลและเครือข่ายบุคลากรการแพทย์ที่เป็นเลิศ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมระบบนิเวศที่ตอบสนองต่อนวัตกรรม คำถามคือ จะทำอย่างไรให้เครือข่ายการพัฒนานวัตกรรมทางยาเติบโตมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และอาจนำไปสู่การผลิตยานวัตกรรมของไทยที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้" นันทิวัต กล่าวทิ้งท้าย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ม.ค. 2567 เวลา : 13:12:51
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 5:26 pm