การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
"หมอชลน่าน" ชี้ มินิธัญญารักษ์ช่วยผู้ป่วยยาเสพติดเข้าถึงการบำบัดมากขึ้น ภาคใต้ฝั่งอันดามันเปิดครบแล้วทุกจังหวัด "พังงา" เตรียมเปิดเพิ่มอีก 3 แห่ง


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้ การเปิดมินิธัญญารักษ์บำบัดผู้ป่วยยาเสพติด โดยครอบครัว ชุมชนมีส่วนร่วม ช่วยผู้ป่วยยาเสพติดเข้าถึงการบำบัดเพิ่มขึ้น ภาคใต้ฝั่งอันดามันเปิดครบแล้วทุกจังหวัด โดยพังงาเตรียมเพิ่มอีก 3 แห่ง หลังเปิดแห่งแรกที่รพ.ตะกั่วทุ่ง เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา

 
วันนี้ (22 มกราคม 2566) ที่ โรงพยาบาลตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการดำเนินงานบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดย นพ.ชลน่านกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าให้มีการจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ใน 76 จังหวัด เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดและฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ให้เข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างครบวงจรใกล้บ้าน โดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดเป้าหมายให้ผู้ป่วยยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา และได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพต่อเนื่อง ร้อยละ 62 ซึ่งในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้มีการจัดตั้งแล้วรวม 8 แห่ง ได้แก่ กระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล จังหวัดละ 1 แห่ง และตรัง 3 แห่ง
 

 
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ในส่วนของโรงพยาบาลตะกั่วทุ่ง ได้เปิดมินิธัญญารักษ์ขนาด 10 เตียง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นแห่งแรกของจังหวัดพังงา ให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ตั้งแต่ระยะเฉียบพลัน ดูแลระยะกลาง และบำบัดฟื้นฟูระยะยาว โดยข้อมูลถึงวันที่ 20 มกราคม 2567 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการรวม 18 คน ส่วนใหญ่มีผลมาจากแอมเฟตามีน (Amphetamine Included Psychosis) ที่เหลือจากแอลกอฮอล์ (Alcohol Withdrawal) สำหรับรูปแบบการดูแลรักษาได้ใช้กิจกรรมควบคู่กับการบำบัดรักษาทางการแพทย์ ทั้ง การปฐมนิเทศให้ความรู้ การดูแลระยะถอนพิษยา กิจกรรมบำบัดระยะกลาง ได้แก่ CBT Basic, ทักษะชีวิต, การมีส่วนร่วมของครอบครัว, การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย, การประเมินการดูแล ซึ่งผู้ป่วยทุกรายที่ผ่านกระบวนการรักษาและส่งกลับคืนสู่สังคมจะมีการติดตามโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กศน. โรงเรียน รพ.สต. เป็นต้น ส่วนการส่งต่อรักษา จะมี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลาเป็นแม่ข่าย และมีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตำบลคลองเคียน ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง ทำให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น และสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง

 
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติด ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยยึดหลัก เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ซึ่งสถาบันครอบครัว สังคม ชุมชน มีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษา และรับกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ จังหวัดพังงามีแผนที่จะเปิดมินิธัญญารักษ์เพื่อรองรับผู้ป่วยระยะกลางเพิ่มอีก 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลท้ายเหมืองชัยพัฒน์ โรงพยาบาลคุระบุรีชัยพัฒน์ และโรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดได้รับการดูแลแบบครบวงจรครบทุกอำเภอ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ม.ค. 2567 เวลา : 19:55:59
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 6:41 am