การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
NARIT เป็นเจ้าภาพจัดประชุมทวิภาคีไทย-จีน ยกระดับความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ และการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ


 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นเจ้าภาพจัดประชุมทวิภาคีไทย-จีน ระหว่างสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) และกระทรวง อว. (CAS-MHESI Bilateral Symposium) ดึงนักวิชาการ นักวิจัยระดับแนวหน้า วิศวกร และผู้ทรงคุณวุฒิจากไทยและจีน หารือและยกระดับร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ งานพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง และเทคโนโลยีอวกาศ ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ไทย-จีนที่มีอยู่เดิม พร้อมต่อยอดให้เกิดความร่วมมืออื่น ๆ ในอนาคต โดยมี Prof. Zhixiang WEI รองผู้อำนวยการสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน เป็นประธานฝ่ายจีน และ ดร. จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. เป็นประธานฝ่ายไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 มกราคม 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่

 
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกในวงการดาราศาสตร์ไทย ที่มีการจัดประชุมทวิภาคีไทย-จีน โดยการรวมตัวของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์และอวกาศภายใต้ CAS กว่า 8 แห่ง จัดขึ้นเพื่อต่อยอดความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ไทย-จีนที่มีอยู่เดิม และผลักดันให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและกำลังคนด้านดาราศาสตร์ และการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เปิดโอกาสให้เกิดโครงการความร่วมมือใหม่ๆ ทางวิชาการ งานวิจัย และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ และยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านงานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์และอวกาศ

 
สำหรับผู้แทนหน่วยงานในประเทศไทยที่เข้าร่วม ประกอบด้วย ผู้บริหาร นักวิจัย นักวิชาการ และวิศวกร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) รวมถึงอาจารย์ และบุคลากรจากสถาบันการศึกษาอีกหลายสถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ฝ่ายจีนมีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์และอวกาศภายใต้ CAS ที่เข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ จำนวน 8 หน่วยงาน ได้แก่ หอดูดาวแห่งชาติจีน (NAOC) สถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง (IHEP) หอดูดาวเซี่ยงไฮ้ (SHAO) สถาบันทัศนศาสตร์และเทคโนโลยีดาราศาสตร์หนานจิง (NIAOT) สถาบันทัศนศาสตร์ กลศาสตร์ขั้นสูงและฟิสิกส์แห่งฉางชุน (CIOMP) ศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติจีน (NSSC) หอดูดาวยูนนาน (YNAO) และ CAS International Cooperation Office

 
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ยังเป็นการเน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยของไทย กับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน โดยเฉพาะด้านดาราศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง และเทคโนโลยีอวกาศ พร้อมทั้งเป็นเวทีแสวงหาความร่วมมือในโครงการใหม่ ๆ ระหว่างผู้ร่วมประชุมจากสองประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ผ่านการนำเสนอผลงาน และการประชุมกลุ่มย่อยอย่างเข้มข้น แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ งานวิจัยดาราศาสตร์ งานพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง และเทคโนโลยีอวกาศ

 
ปัจจุบัน มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในหลากหลายโครงการ อาทิ กล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอส (VGOS) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร โครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ใหม่ของไทยที่ขณะนี้กำลังดำเนินการติดตั้ง ณ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ จ. เชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากหอดูดาวเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Astronomical Observatory: SHAO) สาธารณรัฐประชาชนจีน โครงการภาคีความร่วมมือไทย-จูโน ออกแบบ และสร้างระบบ Earth Magnetic Field (EMF) Shielding เพื่อลดทอนสนามแม่เหล็กโลก สำหรับการทดลองอนุภาคนิวทริโนจากนอกโลกในห้องปฏิบัติการใต้ดินจูโน (Jiangmen Underground Neutrino Observatory: JUNO) ณ เมืองเจียงเหมิน มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และ ดาวเทียม TSC-Pathfinder ส่งวิศวกรชาวไทยไปเรียนรู้เทคโนโลยีสำหรับการสร้างและพัฒนาดาวเทียม ณ สถาบันทัศนศาสตร์ กลศาสตร์ขั้นสูงและฟิสิกส์แห่งฉางชุน ขณะนี้ได้พัฒนา Engineering Model เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย

 
จากการประชุมทวิภาคีครั้งนี้ ได้เกิดความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ขึ้นอีกหลายโครงการ ได้แก่ การวิจัยดาราศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ดาราศาสตร์วิทยุ จักรวาลวิทยาและฟิสิกส์พลังงานสูง การพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์สำหรับดาวเทียมและกล้องโทรทรรศน์์ อาทิ สเปกโตรกราฟสำหรับงานวิจัยดาราศาสตร์ และดาวเทียม การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ อาทิ การออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ payload เพื่อติดตั้งไปกับยานฉางเอ๋อ 7 และ 8 ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ เป็นต้น

โอกาสนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม สำนักงานใหญ่ของ NARIT ได้แก่ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ และห้องปฏิบัติการหอดูดาวและวิศวกรรม ซึ่งผลงานนวัตกรรมที่เกิดขึ้นนั้นขับเคลื่อนทั้งงานวิจัยดาราศาสตร์ งานวิศวกรรมขั้นสูง และงานด้านเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงได้เดินทางไปเยี่ยมชมเทคโนโลยีกล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ 2.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (หอดูดาวแห่งชาติ) อ. จอมทอง และกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ 40 เมตร ณ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ อ. ดอยสะเก็ด ซึ่งกล้องโทรทรรศน์ทั้งสองเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของไทยที่มีบทบาทในระดับโลก และสามารถต่อยอดเข้าร่วมในอีกหลายความร่วมมือในอนาคต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ม.ค. 2567 เวลา : 19:03:15
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 4:50 am