แบงก์-นอนแบงก์
LH Bank ตั้งเป้ายกชั้นขึ้นเป็น "ธนาคารขนาดกลาง" ลุยเพิ่ม "ฐานลูกค้ารายย่อย - SME - รายได้ค่าฟี"


LH Bank ตั้งเป้ายกระดับขึ้นเป็น “ธนาคารขนาดกลาง” ภายในปี 2030 ชูกลยุทธ์เร่งขยายพอร์ตสินเชื่อรายย่อย- SME-เพิ่มรายได้ค่าฟี พร้อมโชว์กำไร LHFG ปีก่อน เติบโต 32.8%
 

 
นายฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายในปี 2030 หรือปี 2573 จะยกระดับ LH Bank ขึ้นเป็นธนาคารขนาดกลาง จากปัจจุบันที่ยังเป็นธนาคารขนาดเล็ก โดยการขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น ด้วยการนำดิจิทัล แพลตฟอร์ม เข้ามาใช้ รวมทั้งหาพันธมิตรรายใหญ่มาเพิ่มเติม เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งสองฝ่าย และเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม ทั้งเทรดไฟแนนซ์ FX และกลุ่มเวลธ์ ตั้งเป้า 5 ปี โต 5 เท่า รวมถึงการ Cross Sale ระหว่างผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า เพื่อครอบคลุมและตอบสนองทุกความต้องการทางการเงิน นอกจากนี้ จะมุ่งการเติบโตอย่างยั่งยืน (ESG) ทั้งในส่วนองค์กรและลูกค้า พร้อมกับควบคุมต้นทุนให้ต่ำลงเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น โดยปรับสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อให้มีความสมดุลมากขึ้น ตั้งเป้าหมายเพิ่มพอร์ตสินเชื่อรายย่อยที่สร้างผลตอบแทนที่ดี และพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีให้มากขึ้น เพื่อให้ใกล้เคียงกับสินเชื่อรายใหญ่ ที่ระดับ 30-35% ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 29% โดยพอร์ตสินเชื่อรายใหญ่มีสัดส่วนมากที่สุด

เป้าหมายสินเชื่อในปีนี้ ตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 8-10% หรือคิดเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ 20,000 ล้านบาท จากยอดคงค้าง ณ สิ้นปี 2566 ที่ 2.5 แสนล้านบาท โดยกลุ่มสินเชื่อรายย่อยเติบโต 20% กลุ่มสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ และกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอี เติบโต 10% นอกจากนี้จะควบคุม Cost to Income ให้ไม่เกิน 45% เพื่อรักษาระดับส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ให้อยู่ที่ 2.5-2.6% ใกล้เคียงกับปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นการนำ Digital AI เข้ามาใช้ รวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมเพื่อให้ Cross Sale ได้เพิ่มขึ้น และจะควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้ิอยู่ในระดับ 3% จากปีก่อนอยู่ที่ 2.7% ซึ่งที่สูงขึ้นกว่าปีก่อนก็เป็นไปตามการเน้นเติบโตในกลุ่มรายย่อยและเอสเอ็มอี

“แม้ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะมีความเสี่ยงสูงอยู่ แต่เรายึดหลักการปล่อยกู้อย่างระมัดระวัง เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเลือกเอสเอ็มอีในกลุ่มที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง เช่น พลังงานสะอาด เป็นต้น ส่วนการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม โชคดีที่เรามีเครือข่ายแบงก์แม่ที่ไต้หวันช่วยหนุนธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ได้เป็นอย่างดี สำหรับการยกระดับธนาคารให้เป็นธนาคารระดับกลาง ไม่มีแผนที่จะซื้อกิจการเข้ามา แต่จะเน้นโตตามธรรมชาติจากภายในของธนาคารเอง"นายฉี ชิง-ฟู่ กล่าว
 

 
นายฉี ชิง-ฟู่ กล่าวต่อว่า ปี 2567 ธนาคารยังคงเดินตามแผนเชิงกลยุทธ์และขับเคลื่อนการเติบโตผ่านการขยายฐานลูกค้าทั้งลูกค้ารายย่อยและ SMEs ผ่านช่องทางดิจิทัล พันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดจนรูปแบบการทำงานและกระบวนใหม่โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน 

สำหรับการดำเนินการหลัก ได้แก่ มุ่งเติบโตในพอร์ตสินเชื่อที่สร้างผลตอบแทนที่ดี ผ่านการจัดการด้านอัตราดอกเบี้ย และการจัดการต้นทุนเงินให้มีประสิทธิภาพ การเพิ่มฐานลูกค้า SME โดยการทำ Program Lending & Package Solution ที่ออกแบบสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม พร้อมปรับกระบวนการทำงาน เพื่อการพิจารณาสินเชื่อที่รวดเร็ว และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาบริการและความรู้ของเจ้าหน้าที่ การให้คำปรึกษาทางการเงินและทางธุรกิจกับ SME เพื่อสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ Refinance โดยตั้งเป้าเติบโต 20% รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ Wealth ผลิตภัณฑ์เงินฝาก ผลิตภัณฑ์การลงทุน ผลิตภัณฑ์ประกันที่ออกแบบพิเศษสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม

พร้อมกันนี้จะยกระดับบริการทางการเงินผ่าน Digital Platform การพัฒนาแอปพลิเคชัน LHB You และ Profita อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการทางการเงินและการลงทุนอย่างครบวงจร ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์

นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญกับ Sustainable Banking เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั้งจากการดำเนินของธุรกิจธนาคารเอง และของลูกค้าที่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคาร (Financed Emission) การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม และสินเชื่อเพื่อสนับสนุนธุรกิจในการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การลดก๊าซเรือนกระจก (Transition Loan) การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ตามมาตรฐานสากล

 
นายฉี ชิง-ฟู่ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 2,096 ล้านบาท เติบโต  32.8% เมื่อเทียบกับปี 2565 และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 1,693 ล้านบาท เติบโต 54.9% เมื่อเทียบกับปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ย เนื่องจากสินเชื่อที่เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจากสินเชื่อบ้าน โดยกลุ่มธุรกิจทางการเงินยังคงความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น และควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับต่ำที่ 2.65% รวมทั้งได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญอย่างระมัดระวังโดย NPL Coverage อยู่ในระดับสูงที่ 200% ซึ่ง LH Bank ได้ดำเนินการตามแผนกลยุทธ์อย่างมีประสิทธิภาพในการเพิ่มสินเชื่อบ้าน การเพิ่มลูกค้าเงินฝากรายย่อยผ่านช่องทางดิจิทัลใหม่ๆ รวมถึงแอปพลิเคชัน LHB You และ Profita ที่ใช้งานง่ายและมีฟังก์ชันครบครัน ทั้งนี้ธนาคารได้รับรางวัล The Best App for Customer Experience : Global Retail Banking Innovation Award 2023 และ Best Mobile Banking – Wealth Management 2023 รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในการมอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าการให้การสนับสนุนสินเชื่อ Sustainable Loan อย่างต่อเนื่อง และการลงทุนใน Green Bond โดยธนาคารได้รับ ESG 100 Certificate และ SET ESG Rating “BBB”  

ด้าน นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด หรือ LH Fund กล่าวว่า ปี 2567 กลยุทธ์ของบริษัทมุ่งเน้นไปที่การสร้างผลการดำเนินงานในกองทุนตราสารทุนไทยและต่างประเทศให้เหมาะสมกับความเสี่ยง โดยมีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น และมุ่งมั่นที่จะบริหารกองทุนรวมให้อยู่ใน Top Quartiles และนำเสนอข้อมูลกองทุนที่เหมาะสมและทันต่อสภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมุ่งเน้นพัฒนาการให้บริการแบบครบวงจรสำหรับลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น และจัดให้มีการให้ความรู้แก่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างต่อเนื่อง และธุรกิจกองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REITs บริษัทมีเป้าหมายการบริหารจัดการกองทุนให้เติบโต และการลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ๆ รวมทั้งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการขยายธุรกิจในส่วนของ REIT Trustee

ส่วนผลการดำเนินงานการบริหารจัดการกองทุนปี 2566 บริษัทมีขนาดกองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการนับรวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) มีมูลค่าประมาณ 61,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2565 ซึ่งเติบโตมาจากการเพิ่มทุนในกลุ่ม REITs และยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) มีขนาดกองทุนอยู่ที่ 14,245 ล้านบาท เติบโต 0.1% ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) มีขนาดกองทุนอยู่ที่ 7,047 ล้านบาท เติบโต 16.6% 
 
 
นอกจากนี้ บริษัทยังการันตีความสำเร็จด้วยรางวัลบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนดีเด่น “Outstanding Asset Management Company Awards” ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน จากงาน SET AWARDS ปี 2565-2566

นายกานต์ อรรถธรรมสุนทร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Securities) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาตลาดแกว่งตัวลงตลอดทั้งปี โดยมีปัจจัยกดดันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ประกอบกับเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าคาด และอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นสูงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 5.5% จนเกิดช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและไทยถึง 3% ส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ตลาดหุ้นไทยทำผลงานได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ ทั่วโลก สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ปิดตลาดที่ 1,415.85 จุด ลดลง 15.1% โดยมีแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติเป็นตัวกดดันหลักโดยขายสุทธิถึง 1.92 แสนล้านบาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่มีสัดส่วนสูงถึง 51% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ปี 2566 เฉลี่ยต่อวันที่ 53,331 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 31% 

ปี 2566 บริษัทได้เพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริการ โดยพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างทั่วถึง สำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 บริษัทมีรายได้ 541.35 ล้านบาท ลดลง 12.6% เมื่อเทียบกับปี 2565 สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์

สำหรับกลยุทธ์ปี 2567 บริษัทมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทั้งด้านระบบเทคโนโลยีและด้านการให้คำแนะนำการลงทุน และมุ่งเติบโตผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม และการเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ รวมทั้งเพิ่มการมีส่วนร่วม (Engagement) ของลูกค้าเดิม การดำเนินธุรกิจใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการให้บริการที่ครบวงจร 

นายฉี ชิง-ฟู่ กล่าวปิดท้ายถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยราว 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจากการกระตุ้นภาครัฐและรายได้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การส่งออกที่กลับมาขยายตัวเนื่องจากการปรับตัวของสินค้าคงคลังในห่วงโซ่อุปทานโลกมีแนวโน้มจะสิ้นสุดลง และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDIs) ซึ่งเป็นผลดีต่อไทยเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ในขณะที่การลดความเสี่ยงของการกระจุกตัวของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกยังคงดำเนินต่อไป    การเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ธนาคารพาณิชย์โดยรวมเติบโต           

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูงของประเทศเศรษฐกิจหลัก และปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อ อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ปัจจัยเหล่านี้สร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดทุนไทย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 00 0000 เวลา : 16:03:44
07-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 7, 2024, 2:30 pm