การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อของเจ้าหน้าที่ พร้อมเร่งรัดป้องกันควบคุม "ไข้เลือดออก" ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า


 

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่างอนุบัญญัติที่ออกตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เรื่องค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคติดต่อของเจ้าหน้าที่ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด / กทม. พิจารณากำหนดค่าทดแทนตามความจำเป็นส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 2.1 เท่า ให้สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์เน้นโรงเรียน โรงพยาบาล วัด/ มัสยิด/โบสถ์ โรงแรม สถานที่ราชการ โรงงาน และจ่ายยาทาหรือสเปรย์พ่นกันยุงแก่ผู้ป่วย 

 
วันนี้ (8 มีนาคม 2567) ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค คณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

 
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในวันนี้ ที่ประชุมมีการพิจารณาประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1) ร่างอนุบัญญัติที่ออกตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการจ่ายค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการ เฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคติดต่อ โดยเมื่อเกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. เป็นผู้พิจารณากำหนดค่าทดแทนตามความจำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย ค่าขาดประโยชน์ระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายจะมีการชดเชย ความเสียหายให้แก่ทายาท เช่น ค่าทดแทน ค่าจัดงานศพ ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู เป็นต้น และเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยให้อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ บุคลากรของสภากาชาดไทย หรือบุคลากรของสถานพยาบาล ทำหน้าที่ออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อประโยชน์ในการป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ และ 2) เห็นชอบการทบทวนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินงานการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล

 
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบสถานการณ์โรคที่สำคัญ คือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งในปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 17,783 ราย มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ถึง 2.1 เท่า มีผู้เสียชีวิต 25 ราย จาก16 จังหวัด โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. กำกับ อสม. ทำการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งรายงานตามระบบอย่างเข้มข้น โดยเน้นโรงเรียน โรงพยาบาล วัด/ มัสยิด/โบสถ์ โรงแรม สถานที่ราชการ โรงงาน และจ่ายยาทาหรือสเปรย์พ่นกันยุงแก่ผู้ป่วย ส่วนโรคติดต่อสำคัญที่ต้องกำจัดกวาดล้างตามพันธสัญญานานาชาติ ได้แก่ โรคหัด ซึ่งพบผู้ป่วยในกลุ่มเด็กมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลายจังหวัด รวมทั้งชายแดนใต้ และ โรคไอกรน พบการระบาดในพื้นที่ชายแดนใต้เริ่มมีแนวโน้มลดลง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้เร่งรัดมาตรการเพิ่มความครอบคลุมของวัคซีน โดยให้วัคซีนเก็บตกในเด็กที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานเข้ารับวัคซีน

 
สำหรับโรคพิษสุนัขบ้า ดำเนินการภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งปีที่ผ่านมาพบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้ ส่วนปี 2567 ไม่พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า แต่ยังจำเป็นต้องคงมาตรการเฝ้าระวังสัตว์และผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนโรคลีเจียนแนร์พบผู้ป่วยทั้งคนไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปี 2567 พบผู้ป่วยแล้ว 14 ราย ได้ขอความร่วมมือสถานประกอบการที่พัก/โรงแรม ดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคลีเจียนแนร์ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวปลอดภัยของประเทศไทย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 มี.ค. 2567 เวลา : 18:40:10
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 6:51 am