ประกัน
คปภ.ลงดาบ เอาจริง!!! "ตัวแทน - นายหน้า ฉ้อฉลประกันภัย" จัดสีแบ่งพฤติกรรมโกง "แดง-ส้ม-เหลือง-เขียว" เริ่มรันระบบเรียลไทม์ พ.ค.นี้ เพิ่มความมั่นใจผู้ซื้อประกัน


 
ปัจจุบันต้องยอมรับว่าตัวแทนและนายหน้าประกันภัยบางส่วน ซึ่งเป็นส่วนน้อยในวงการประกันภัย ยังมีพฤติกรรมฉ้อฉลประกันภัย โดยเฉพาะการเก็บเบี้ยประกันและไม่ส่งเงินเข้าบริษัทหรือส่งไม่ครบจำนวน หรือแนะนำชักชวนให้เปลี่ยนย้ายบริษัทประกันเพื่อหวังค่าคอมมิชชั่น ฯลฯ ทำให้ผู้เอาประกันได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะเมื่อตอนต้องเคลมประกัน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและธุรกิจประกันชีวิต ในการหาทางออกร่วมกันกับสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัย ในการแชร์ฐานข้อมูลการฉ้อฉลประกันภัย กับโครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย หรืออาจจะฉ้อฉลประกันภัยกับภาคธุรกิจ ภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสำนักงาน คปภ. ซึ่งมีการจัดแถลงข่าวเมื่อวันพุธที่ 17 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ที่สำนักงาน คปภ.
 

 
ลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยที่เป็นคนกลางในการชักชวนหรือชี้ช่องจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย ซึ่งถือว่า “คนกลางประกันภัย” เป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยและที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางปกครองด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย และทางอาญาด้วยการดำเนินคดีฉ้อฉลประกันภัยกับตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับมาตรการป้องปรามมิให้ตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย สำนักงาน คปภ. จึงริเริ่มแนวทางป้องกันการฉ้อฉลประกันภัยโดยตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยจัดทำโครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย โดยสายกฎหมายและคดี ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย (Center of InsurTech Thailand) หรือศูนย์ CIT ของสำนักงาน คปภ. ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการฉ้อฉลประกันภัยโดยคนกลางประกันภัยตั้งแต่ต้นน้ำ โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาออกใบอนุญาตเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยเพื่อคัดกรองบุคคลเข้ามาเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยในธุรกิจประกันภัย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจประกันภัยและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี โดยทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์ในการป้องปรามการฉ้อฉลประกันภัยที่สร้างความเสียหายแก่ภาพรวมของธุรกิจประกันภัย ในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการประกันภัยและคนกลางประกันภัย รวมถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและประชาชนอีกด้วย

 
สำหรับแนวทางพิจารณาการออกใบอนุญาตเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยรูปแบบใหม่นั้น นอกจากจะพิจารณาตามกฎหมายประกันชีวิตและประกันวินาศภัยที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องไม่มีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย หรือมีประวัติอาชญากรรมในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัดแล้ว บริษัทประกันภัยจะต้องตรวจสอบข้อมูลผู้ขอรับใบอนุญาตฯ ในระบบดังกล่าวด้วย ซึ่งก่อนที่บริษัทประกันภัยจะตรวจสอบข้อมูลในระบบก็จะต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวคือ บริษัทประกันภัยจะต้องได้รับความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลจากตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยที่ต้องการตรวจสอบ ก่อนที่จะนำเลขบัตรประชาชนของผู้ขอรับใบอนุญาตฯ ที่ให้ความยินยอมมาขอตรวจสอบประวัติที่เกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย หรือการเพิกถอน/พักใช้ใบอนุญาตของตัวแทนหรือนายหน้าในระบบดังกล่าว เมื่อระบบประมวลผลแล้ว ก็จะแสดงผลการตรวจสอบว่าผู้ขอรับใบอนุญาตฯ นั้น มีพฤติกรรมอยู่ในระดับการเฝ้าระวังลำดับใด โดยในระบบดังกล่าวแบ่งระดับความร้ายแรง ออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับหนึ่ง สีแดง กรณีตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยอยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตครั้งล่าสุดไม่เกินระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ระดับสอง สีส้ม กรณีตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตครั้งล่าสุด เกิน 5 ปีเต็ม นับแต่วันที่มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต หรือ กรณีบริษัทประกันภัยรายงานว่าเป็นบุคคลมีพฤติกรรมที่เป็นการฉ้อฉลประกันภัย เข้ามายังระบบรายงานการฉ้อฉลประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ทั้งนี้ เป็นกรณีที่มีหลักฐานชัดแจ้ง หรือมีการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ระดับสาม สีเหลือง กรณีมีบริษัทประกันภัยรายงานว่าตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยนั้น เป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมที่อาจจะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย เข้ามายังระบบรายงานการฉ้อฉลประกันภัยของสำนักงาน คปภ. หรือมีการร้องเรียนและอยู่ในระหว่างการสอบสวนของสำนักงาน คปภ. และระดับสี่ สีเขียว กรณีตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยไม่มีประวัติด่างพร้อย กล่าวคือ ไม่อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต และไม่พบประวัติที่บริษัทประกันภัยรายงานเข้ามาว่าบุคคลนั้น มีพฤติกรรมที่เป็นการฉ้อฉลประกันภัยหรืออาจจะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย

 
ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยสามารถรับตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยที่อยู่ในกลุ่มสีส้มและสีเหลือง ให้เป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยในสังกัดได้ เนื่องจากสำนักงาน คปภ. ไม่ได้บังคับหรือจำกัดสิทธิ เนื่องจากข้อมูลจากระบบดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลประกอบให้บริษัทประกันภัยบริหารความเสี่ยงและพิจารณากลั่นกรองก่อนรับบุคคลเข้ามาเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยในสังกัดของบริษัทประกันภัย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยยับยั้งและป้องกันการฉ้อฉลประกันภัยจากตัวแทนและนายหน้าประกันภัยที่จะเข้าสู่ธุรกิจประกันภัยในอนาคต และช่วยกำหนดแนวทางการดำเนินการของบริษัทประกันภัยให้อยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาล การบริหารความเสี่ยง รวมถึงการจัดการเรื่องความรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน กรณีบริษัทประกันภัยได้พิจารณาตกลงรับตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยที่มีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย หรือมีประวัติอาชญากรรมในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เข้ามาเป็นตัวแทน หรือนายหน้า ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะทำการพัฒนาต่อยอดระบบดังกล่าวควบคู่ไปด้วย เช่น การเตรียมพัฒนาระบบเพื่อให้รองรับการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทั้งระบบภายในของสำนักงาน คปภ. และระบบของหน่วยงานภายนอก เช่น ระบบทะเบียนใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย/ผู้ประเมินวินาศภัย (e-Licensing) ของสายตรวจสอบคนกลางประกันภัย และระบบจัดการเรื่องร้องเรียนของสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ (PPMS) และระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับประวัติอาชญากรรม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและพิจารณาคัดกรองตัวแทนและนายหน้าประกันภัยก่อนเข้าสู่ธุรกิจประกันภัย
 
 
โดย นายชูฉัตร กล่าวยอมว่า การฉ้อฉลประกันภัย ที่ผ่านมา หากจำแนกการกระทำความผิด จะมี 3 ลักษณะหลักๆ กล่าวคือ

1. เก็บเงินแล้วไม่นำส่งบริษัทประกันภัย หรือส่งไม่ครบตามจำนวนเต็ม

2.การบิดเบือนหรือไม่แจ้งรายละเอียดให้ชัดเจน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในความคุ้มครอง รวมถึงข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัย

3. การแนะนำให้ยกเลิกกรมธรรม์เดิม เพื่อวัตถุประสงค์ให้ทำกรมธรรม์ใหม่ ซึ่งทำให้ผู้เอาประกันภัยเกิดความเสียหาย

 
ทั้งนี้ นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้แบ่งระดับพฤติกรรมการฉ้อฉลประกันภัย ไว้ 4 ระดับ และเป็น 4 กลุ่มสี ได้แก่

1. สีแดง เป็นตัวแทนหรือนายหน้า ที่ทำผิดและพิสูจน์ได้แล้วว่าทำให้ผู้ซื้อประกันเสียหาย โดยผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งการสอบสวนของสำนักงานคปภ. และใช้สิทธิอุทธรณ์บอร์ด คปภ.ไปแล้ว ซึ่งกลุ่มสีแดงที่ปัจจุบันมีอยู่จำนวน 200 ราย ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต 5 ปี

2. สีส้ม เป็นตัวแทนหรือนายหน้า ที่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้วเกิน 5 ปี ที่กฎหมายกำหนดเมื่อพ้นระยะเวลา 5 ปีไปแล้วให้มีสิทธิกลับมาขายประกันได้ แต่ยังเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง และต้องมีการเทรนนิ่งอย่างเข้มข้นในเรื่องจริยธรรมเพื่อไม่ให้กลับไปฉ้อฉลอีก ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มสีส้มอยู่ประมาณ 1,700-1,800 ราย

3. สีเหลือง ผู้มีพฤติกรรมอาจจะฉ้อฉลประกันภัย โดยมีหลักฐานและอยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวน

4. สีเขียว ไม่มีประวัติด่างพร้อย ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต ไม่พบประวัติที่มีพฤติกรรมฉ้อฉลประกันภัยหรืออาจจะฉ้อฉลประกันภัยเป็นสีที่บริสุทธิ์ขาวสะอาด โดยในระบบประกันภัยมีกลุ่มสีขาวเป็นส่วนใหญ่ถึง 99%

“เจตนาของคปภ.ต้องการให้ผู้เอาประกันได้รับบริการที่ดี ปลอดภัย และเป็นธรรม เพราะตัวแทนนายหน้าถือเป็นด่านแรกในการดึงประชาชนเข้าสู่ประกันภัย แต่ไม่ได้ต้องการห้ามให้บริษัทประกัน ห้ามรับตัวแทนนายหน้ารายที่ถูกจัดสถานะสีแดง สีส้ม เข้าทำงานอีก ถ้าเขาสามารถกลับตัวกลับใจได้“นายอดิศร กล่าว

 
นายอดิศร กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลการแบ่งสีแบ่งพฤติกรรมดังกล่าว สำนักงาน คปภ.ได้ข้อมูลตัวแทนและะนายหน้าประกันภัยที่ฉ้อฉลและอาจจะฉ้อฉลมาจากความร่วมมือของสมาคมประกันวินาศภัยและสมาคมประกันชีวิต ที่มีการแชร์ข้อมูลระหว่างกัน เพื่อรวบรวมเข้ามาอยู่ในระบบและประมวลผล ก่อนส่งกลับไปให้ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและเตือนประชาชนผู้ซื้อประกันภัยก่อนจะตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ ควรตรวจสอบและเช็คประวัติผู้ขายประกันก่อนว่าอยู่ในพฤติกรรมสีไหน

”สมัยก่อนถ้าเป็นกฎหมายฉบับเก่า ผู้ซื้อประกันจะขอแค่ดูบัตรว่าเป็นตัวแทนบริษัทอะไร แต่ตอนนี้ผู้ซื้อประกันสามารถจะขอดูสถานะของตัวแทนและนายหน้าก่อนว่าอยู่สถานะสีอะไร เพื่อความมั่นใจในการซื้อประกันภัย“นายอดิศร กล่าว

 
นายอดิศรกล่าวต่อว่า โครงการนี้จะเริ่มรันระบบแบบเรียลไทม์ได้ในเดือนหน้า พ.ค. 2567 เป็นต้นไป โดยเบื้องต้นจะตรวจสอบข้อมูลได้ได้เฉพาะบริษัทประกัน ซึ่งเป็นเฟสแรกของการเริ่มโครงการ โดยยังไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ เพื่อรอให้ระบบมีความเสถียร จึงจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ อย่างไรก็ตาม เป็นความตั้งใจและเป้าหมายของคปภ. ที่จะเปิดให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้อย่างแน่นอน

สำหรับบทลงโทษสำหรับตัวแทนและนายหน้าที่มีพฤติกรรมฉ้อฉลประกันภัย จะถูกจำคุก 5 ปี ปรับ 5 แสนบาท และจำคุก 3 ปี ปรับ 3 แสนบาท แล้วแต่ลักษณะการกระทำความผิด ซึ่งนอกจากการลงโทษทางกฎหมายแล้ว จะมีเรื่องการกำกับจริยธรรมด้วย

ข้อมูลล่าสุด ก่อนสิ้นเดือน เม.ย.นี้ จะมีการนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการฉ้อฉลประกันภัย ของสำนักงาน คปภ. เพื่อขออนุมัติดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จำนวน 10 คดี ทั้งนี้คดีความส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับเงินแล้วไม่นำส่งบริษัทประกันภัย

นายชูฉัตร เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่าปัจจุบัน ( ณ 5 เม.ย.67) ประกันวินาศภัยและประกันชีวิต มีจำนวนตัวแทนและนายหน้าบุคคลธรรมดา จำนวน 561,377 ราย แบ่งเป็น ประกันวินาศภัย 21,137 ราย นายหน้าประกันชีวิต 126,970 ราย นายหน้าประกันวินาศภัย 180,096 ราย
 

 
ด้าน นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวยอมรับว่าแม้ธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยจะอยู่มาอย่างยาวนาน แต่ก็เจอปัญหาของคนที่มีใบอนุญาตที่ทำไม่ถูกต้องอยู่เสมอ ฉะนั้นโครงการนี้ถือว่าโครงการที่ดีมาก และเป็นประโยชน์กับประชาชนในการซื้อกรมธรรม์ รวมทั้งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย

“วันนี้เรามาแชร์ข้อมูลร่วมกันแล้ว บริษัทประกันเองก็ต้องรู้จักใช้ข้อมูลนี้ให้เป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ซื้อกรมธรรม์ เพื่อร่วมสร้างมาตรฐานที่ดีให้กับวงการประกันภัย และสร้างความเชื่อใจให้กับประชาชนทั่วไปผู้ซื้อกรมธรรม์ อย่ามองแต่จะเอาเบี้ย เพราะเป็นเรื่องฉาบฉวย ไม่ยั่งยืน” นายสาระกล่าว

 
ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวเปรียบเปรยว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก และเปรียบเสมือน คปภ. ตั้งเครื่องเอ็กซเรย์ให้ภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจน ซึ่งต่อไปควรจะขยายไปยังประชาชนทั่วไปให้สามารถตรวจสอบพฤติกรรมที่ผ่านมาของตัวแทนและนายหน้าที่มาขายประกัน โดยต้องโชว์ข้อมูลหรือเครดิตของตัวเองว่าอยู่ในเป็นกลุ่มสีเขียว ไม่มีพฤติกรรมด่างพร้อยในการฉ้อฉล

 
”ผมชื่นชมที่เราเริ่มต้นปัดฝุ่นทำความสะอาดบ้าน เพราะตัวแทนนายหน้าเปรียบเสมือนคนในบ้าน ซึ่งหากคนในบ้านทั้งหมดถูกคัดกรองและมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ก็จะดูแลประชาชนผู้เอาประกันได้เป็นอย่างดี ต่อไปเราสามารถเลือกบุคลากรที่ดี เพียบพร้อม และพร้อมจะดูแลประชาชนได้ โดยยึดหลักสุจริตเป็นสำคัญ”ดร.สมพรกล่าว

 


LastUpdate 19/04/2567 10:14:40 โดย : Admin
10-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 10, 2024, 2:26 am