การค้า-อุตสาหกรรม
มะพร้าวผลแก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปีนี้ ผลผลิตรวม 296 ล้านผล แนะเกษตรกรหมั่นสำรวจแปลง เฝ้าระวังโรคแมลง


นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์การผลิตมะพร้าวผลแก่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอันดับ 1 ของประเทศ โดยในปี 2567 (ข้อมูลพยากรณ์จาก สศก. ณ มีนาคม 2567) มีเนื้อที่ให้ผล 351,924 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี ที่ผ่านมาที่มีจำนวน 350,176 ไร่ (เพิ่มขึ้น 1,748 ไร่ หรือร้อยละ 0.50) ในขณะที่ผลผลิต มีจำนวน 296 ล้านผล ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 301 ล้านผล (ลดลง 5 ล้านผล หรือ ร้อยละ 1.60) ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 842 ผล/ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 860 ผล/ไร่ (ลดลง 18 ผล/ไร่ หรือ ร้อยละ 2.09) เนื่องจากสภาวะภัยแล้งและโรคแมลงระบาด

 
จากการติดตามของ สศท.10 พบว่า มะพร้าวผลแก่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะมีผลผลิตออกตลอดทั้งปี โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนเมษายน - กรกฎาคม จำนวน 117 ล้านผล หรือ คิดเป็นร้อยละ 40 ของผลผลิตทั้งจังหวัด โดยราคามะพร้าวผลแก่ที่เกษตรกรขายได้ (ราคาเฉลี่ยรายสัปดาห์ ณ 24 เมษายน 2567) แบ่งเป็น มะพร้าวผลแก่ขนาดใหญ่ ราคา 18.43 บาท/ผล มะพร้าวผลแก่ขนาดรอง 12 บาท/ผล และมะพร้าวผลแก่ขนาดเล็ก 7.67 บาท/ผล ราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ราคา 10.67 บาท/ผล 6.75 บาท/ผล และ 4.22 บาท/ผล ตามลำดับเนื่องจากปริมาณผลผลิตมะพร้าวผลแก่ลดลง ในขณะที่โรงงานแปรรูปมีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง ด้านสถานการณ์ตลาดมะพร้าวผลแก่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกรจะจำหน่ายผลผลิตให้กับพ่อค้ากะทิสด โรงงานกะทิสำเร็จรูปโดยตรง ผู้ประกอบการทำเนื้อมะพร้าวขาว และผู้ประกอบการผลิตน้ำมันมะพร้าว

 
“อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัดและสถานการณ์ภัยแล้ง มักพบการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว โดยเฉพาะหนอนหัวดำมะพร้าวและแมลงดำหนาม ซึ่งขยายพันธุ์และทำลายต้นมะพร้าวได้อย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายรุนแรงจนต้นมะพร้าวยืนต้นตายได้ ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ข้อมูลการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567) พบการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว ร้อยละ 2.63 และการระบาดของแมลงดำหนาม ร้อยละ 2.11 ไร่ ของเนื้อที่ยืนต้น โดยขณะนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ลงพื้นที่ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว สำหรับการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวทำได้โดยการปล่อยศัตรูตามธรรมชาติของหนอนหัวดำมะพร้าวในสวนมะพร้าวของเกษตรกร ได้แก่ แตนเบียนบราคอน แตนเบียนไข่ทริคโคแกรมมา แมลงหางหนีบสีดำหรือแมลงหางหนีบขาวงแหวน ตลอดจนถึงการฉีดพ่นเชื้อบีทีสำหรับต้นมะพร้าวที่ไม่สูงมาก และหากพบการระบาดที่รุนแรงอาจต้องใช้สารอีมาเมกติน - เบนโซเอตฉีดเข้าลำต้น สำหรับต้นมะพร้าวที่สูงมากกว่า 12 เมตร” ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าว

 
ทั้งนี้ เกษตรกรควรมีการจัดการสวนมะพร้าวที่ดี ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวในระยะยาว โดยอาจ ใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น วิธีกล วิธีเขตกรรม ชีววิธี และวิธีอื่น ๆ ผสมผสานกัน เพื่อควบคุมจำนวนประชากรของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย รวมถึงหากพบเจอการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว ต้องแจ้งให้ทีมศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน หรือสำนักงานเกษตรอำเภอทราบในทันที หากท่านสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 โทร. 0 3233 7951 หรืออีเมล zone10@oae.go.th

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 เม.ย. 2567 เวลา : 16:26:10
06-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 6, 2024, 8:51 pm