เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
แนวปฏิบัติสำคัญ เรื่องการชำระหนี้ เพื่อลดโอกาสเกิดหนี้เสียและภาระหนี้ของประชาชน


 
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และ
การตัดชำระหนี้  โดยคาดว่าจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนตุลาคม 2563  มีวัตถุประสงค์เพื่อ
ลดโอกาสเกิดหนี้เสียในระบบการเงินโดยรวม และลดภาระหนี้ของประชาชน โดยประกาศฉบับนี้จะนำไปสู่
การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สำคัญในระบบการเงินของไทยใน 3 เรื่อง 
 
 
1. การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริง เดิมแม้ผิดนัดเพียงงวดเดียว ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก แต่ตามประกาศฉบับใหม่ให้คิดบนฐาน “เงินต้นที่ผิดนัดชำระจริง” เท่านั้น ไม่รวมเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งจะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดสอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากขึ้น
 
 
ตัวอย่าง กู้ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี (240 งวด) จ่ายชำระปกติมา 2 ปี (24 งวด) งวดที่ 25 ที่ต้องจ่าย 42,000 บาท (เงินต้น 10,000 บาท และดอกเบี้ย 32,000 บาท) เกิดติดขัดผ่อนไม่ไหว แต่เดิมนั้นดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดจากฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด คือ งวดที่ 25 - งวดที่ 240 ประมาณ 4.77 ล้านบาท แต่ตามประกาศฉบับใหม่จะถูกคิดบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริงในงวดที่ 25 คือ 10,000 บาท เท่านั้น ไม่รวมเงินต้นในงวดที่ 26 – งวดที่ 240 ซึ่งเป็นงวดในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
 
2. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เหมาะสม เดิมผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง ส่วนใหญ่มักจะใช้อัตรา 15% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
บางกรณีกำหนดสูงกว่านั้นถึง 18% หรือ 22% แต่ตามประกาศใหม่ผู้ให้บริการทางการเงินจะสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญา บวกได้ไม่เกิน 3%” โดยผู้ให้บริการทางการเงินสามารถพิจารณากำหนดในอัตราที่ต่ำกว่า 3% ได้ เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ผู้ให้บริการทางการเงินบวกเพิ่ม 1% รวมเป็น 9% เนื่องจากเป็นลูกหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาไม่สูงมากนัก และมีประวัติการชำระหนี้ที่ดีกับผู้ให้บริการทางการเงินมาโดยตลอด เป็นต้น
 
 
หลักคิดสำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้คือ ดอกเบี้ยผิดนัดต้องต่างจากดอกเบี้ยตามสัญญาบ้าง 
เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามกำหนด แต่ในอีกด้านหนึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดให้สูงมากอย่างที่ผ่านมา พูดง่ายๆ คือ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดจะคำนึงถึงภาระที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ให้บริการ
ทางการเงินต้องติดตามหนี้ที่ค้างชำระ ควบคู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วย (affordability risk) 
ตัวอย่างจริงในหลายกรณีเป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่า แทนที่ดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่สูงหรือแพงมาก ๆ จะช่วยให้ลูกหนี้มีวินัย แต่ในข้อเท็จจริงพบว่าดอกเบี้ยผิดนัดที่สูงลิ่วกลับกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ได้  

ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงการผิดนัด เรามักนึกถึงแต่ลูกหนี้ที่ไม่สุจริต จนอาจลืมไปว่ามีลูกหนี้จำนวนมากที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัด แต่จ่ายหนี้ได้ไม่ครบเพราะกำลังเดือดร้อนจริง ๆ ยิ่งในช่วง covid-19 ยิ่งเห็นชัด การที่คิดดอกเบี้ยผิดนัดมาก ๆ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้งวดต่อไปได้
 
การปรับปรุงในครั้งนี้ช่วยให้ลูกหนี้ที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดที่พยายามจ่ายชำระหนี้มีโอกาสผิดนัดน้อยลง และจะทำให้แรงจูงใจในระบบการเงินโดยรวมมีความสมดุลมากขึ้น การฟ้องร้องดำเนินคดีจะลดลง แต่เดิมเมื่อลูกหนี้ผิดนัด  ถ้าฟ้องเจ้าหนี้จะได้ดอกเบี้ยผิดนัด 15% ตามประกาศใหม่จะได้แค่ 9% เจ้าหนี้ก็จะคิดมากขึ้นว่าการฟ้องร้องจะคุ้มค่าหรือไม่ และการหันหน้ามาเจรจาหาทางออกร่วมกันจะดีสำหรับทุกฝ่ายมากกว่า
 
ถ้าเปรียบเทียบแนวปฏิบัติที่ผ่านมากับแนวใหม่ที่ได้ปรับปรุงเรื่องฐานและอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะเห็นว่าดอกเบี้ยผิดนัดส่วนเพิ่มแบบเดิมสูงถึง 27,443.84 บาท ในขณะที่แบบใหม่ลดลงเหลือเพียงแค่ 8.22 บาท ดูเผิน ๆ อาจจะดูน้อย แต่ถ้าดูในรายละเอียดจะเห็นว่าลูกหนี้ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาอีก 32,000 บาท รวมเป็น 32,008.22 บาท ในขณะที่แบบเดิมมีจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งสิ้นสูงถึง 59,443.84 บาท
 
 
3. การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ที่คำนึงถึงผู้บริโภคโดยให้ตัดงวดที่ค้างนานที่สุดก่อน การกำหนดลำดับ
การตัดชำระหนี้เพื่อให้รู้ว่าเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เงินที่จ่ายเข้ามาจะนำไปตัดหนี้ส่วนใดก่อนหลัง แนวปฏิบัติเดิมนั้น 
เงินที่ลูกหนี้จ่ายเข้ามาจะนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมดก่อน แล้วส่วนที่เหลือจึงจะนำไปตัดเงินต้นเรียกว่า “การตัดชำระหนี้แบบแนวตั้ง”
 
ตัวอย่าง ลูกหนี้มีค่างวดที่ต้องจ่ายเดือนละ 10,300 บาท แบ่งเป็นค่าธรรมเนียม 300 บาท ดอกเบี้ย 4,000 บาท และเงินต้น 6,000 บาท ลูกหนี้ค้างชำระ 3 เดือนรวม 30,900 บาท เดือนที่ 4 เริ่มพอที่จะหาเงินได้กลับมาจ่าย 10,300 บาท วิธีการตัดชำระหนี้แบบเดิมในแนวตั้งจะไปหักค่าธรรมเนียมทั้งหมด 900 บาทก่อน ส่วนที่เหลืออีก 9,400 บาทนำไป

ตัดดอกเบี้ยค้าง ซึ่งสามารถตัดชำระได้เพียงบางส่วนเท่านั้นเพราะดอกเบี้ยค้าง 3 งวดรวม 12,000 บาท ทำให้ในงวดที่ 4 แม้ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้เข้ามา 10,300 บาท เงินที่จ่ายเข้ามาจะไม่สามารถตัดถึงส่วนเงินต้นได้เลย
 
 
ตามประกาศฉบับนี้จะกำหนดให้มี “การตัดชำระหนี้แบบแนวนอน”  คือให้นำเงินที่ชำระเข้ามาไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นในงวดที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน ซึ่งจากตัวอย่างเมื่อลูกหนี้ชำระเงิน 10,300 บาท ก็จะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดที่ 1 ก่อนได้จนครบ และจะทำให้มียอดค้างเหลือเพียง 2 งวด การปรับปรุงครั้งนี้ช่วยเพิ่มโอกาสให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือนสามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น และช่วยลดการเกิด NPL รวมทั้งจะช่วยให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการจ่ายหนี้ต่อเนื่องและช่วยให้ประวัติการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น
 
คนไทยได้อะไรจากประกาศฉบับนี้?
 
“การออกประกาศของ ธปท. ในครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแนวปฏิบัติเรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดหนี้เสียหรือหนี้ด้อยคุณภาพของระบบโดยรวม และช่วยให้ลูกหนี้ที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดให้สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ เนื่องจากดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะไม่สูงเกินสมควร จนทำให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ไม่ได้ รวมทั้งแรงจูงใจในระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น และช่วยลดการฟ้องร้องดำเนินคดี อีกทั้งการปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดให้คำนวณจากฐานของงวดที่ผิดนัดจริง ก็จะช่วยทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากขึ้น และจะส่งผลทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของไทยในภาพรวม” 
 
 
ประกาศฉบับนี้จะทำให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น หรือไม่? 
 
ไม่ เพราะ ผลกระทบด้านลบจากการผิดนัดสำหรับลูกหนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องดอกเบี้ยผิดนัดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำให้ประวัติการชำระหนี้ในเครดิตบูโรเสีย ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ไปขอสินเชื่ออื่นได้ยากหรืออาจขอสินเชื่อไม่ได้เลยรวมทั้ง
จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในกรณีที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วย พูดง่าย ๆ คือไม่ใช่ค่าปรับถูก แล้วลูกหนี้จะผิดนัด เพราะการผิดนัดยังส่งผลลบด้านอื่นด้วย
 
 
ในทางตรงข้าม แนวปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ จะทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดที่ลูกหนี้ต้องจ่ายมีความสมเหตุสมผลมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ลูกหนี้กลับมาชำระหนี้ได้มากขึ้น การผิดนัดน่าจะลดลง การฟ้องร้องน่าจะลดลงด้วยตามที่กล่าวในช่วงต้น 

ประกาศฉบับนี้จะมีผลเมื่อใด? ลูกหนี้ต้องไปขอเปลี่ยนสัญญาหรือไม่?
 
ประกาศฉบับนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ยกเว้นเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ที่จะเริ่มใช้ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากผู้ให้บริการทางการเงินต้องใช้เวลาในการปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี สำหรับการใช้ฐานของงวดที่ผิดนัดชำระหนี้จริงมาคำนวณ ธปท. ได้มีหนังสือเวียนไปก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 ผู้ให้บริการทางการเงินได้ปรับมาใช้เกณฑ์ใหม่ในการคำนวณแล้ว ทั้งนี้ ประชาชนและธุรกิจ SMEs จะได้รับสิทธิตามที่ประกาศฉบับนี้กำหนดโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องลำบากเดินทางไปที่สาขาของ
ผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อแก้ไขสัญญาแต่อย่างใด
 
การผิดนัดชำระหนี้ก่อนประกาศมีผลบังคับ
 
อย่างไรก็ดี สำหรับการผิดนัดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2564 ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถนำหลักการ
ตามประกาศฉบับใหม่มาใช้พิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดให้แก่ลูกหนี้ได้ตามสมควร โดยเฉพาะ
ในปัจจุบันที่ลูกหนี้จำนวนมากกำลังเดือดร้อนจากวิกฤต covid-19 หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือเห็นว่าไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สามารถสอบถามและร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร. 1213 
หากท่านใดสนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเชิงลึก สามารถดาวน์โหลดบทความ เรื่อง การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และลำดับการตัดชำระหนี้อย่างไรให้เป็นธรรม ได้ที่ https://www.1213.or.th/th/Pages/defaultinterest.aspx

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ต.ค. 2563 เวลา : 20:24:59
26-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (26 เม.ย.67) ลบ 2.25 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.02 จุด

2. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,310 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,350 เหรียญ

3. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (26 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 37.06 บาทต่อดอลลาร์

4. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.90-37.15 บาท/ดอลลาร์

5. ทองปิดบวก $4.10 รับดอลล์อ่อน-แรงซื้อลดความเสี่ยง

6. ตลาดหุ้นไทยเปิด (26 เม.ย.67) บวก 0.68 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.95 จุด

7. ดาวโจนส์ปิดร่วง 375.12 จุดหลัง GDP สหรัฐชะลอตัว - เงินเฟ้อพุ่ง

8. ทองพุ่ง! ราคาทองวันนี้ 26/4/67 ครั้งที่ 1 เพิ่มขึ้น 100 บาท ทองคำแท่งขายออกบาทละ 40,850 บาท

9. ทั่วไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุด 43 องศาเซลเซียส ฟ้าหลัว ฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และลมกระโชกแรงตลอดช่วง

10. ตลาดหุ้นปิด (25 เม.ย.67) บวก 3.17 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.27 จุด

11. ประกาศ กปน.: 29 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนบ้านบางไผ่-บ้านหนองเพรางาย

12. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (25 เม.ย.67) บวก 1.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.82 จุด

13. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำยังคงทรงตัวในกรอบเช่นเดิมระหว่าง 2,290-2,330 เหรียญ

14. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ลบ 42.77 จุด บอนด์ยีลด์พุ่งฉุดตลาด บดบังผลประกอบการ บจ.แกร่ง

15. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ร่วง 3.70 เหรียญ นักลงทุนคลายกังวลความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 2:13 pm