เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.เปิดรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 2/2564


กรรมการที่เข้าร่วมประชุม

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน 
นายคณิศ แสงสุพรรณ นายรพี สุจริตกุล นายสมชัย จิตสุชน นายสุภัค ศิวะรักษ์ 
ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงิน
 
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศที่อาจรุนแรงและยืดเยื้อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้รับแรงสนับสนุนจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ออกมาเพิ่มเติม 
 
และการส่งออกที่ปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปยังมีความไม่แน่นอนจากการกลายพันธุ์ของไวรัสและประสิทธิผลของวัคซีนป้องกัน COVID-19
 
ตลาดการเงินโลกเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวปรับสูงขึ้นเร็วจากการคาดการณ์ของนักลงทุนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม จาก (1) อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้น (2) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และ (3) อุปทานพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่แนวโน้มสูงขึ้นตามการก่อหนี้เพิ่มเติมของภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และหุ้นทั่วโลกปรับสูงขึ้นสวนทางกับราคาสินทรัพย์ปลอดภัย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของประเทศส่วนใหญ่รวมถึงของไทยปรับสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว สำหรับค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. และดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน
 
มองไปข้างหน้า ความผันผวนในตลาดการเงินโลกจะยังอยู่ในระดับสูง ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ อาจปรับตัวอย่างรุนแรงหากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือการดำเนินนโยบายการเงินการคลังของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก อาทิ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการทยอยลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดการณ์และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังตลาดการเงินไทย จึงต้องพิจารณาฉากทัศน์ของปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบในกรณีต่าง ๆ ต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

ภาวะเศรษฐกิจไทย
 
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่  แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจาก การระบาดระลอกใหม่ไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดครั้งก่อน เนื่องจากภาครัฐดำเนินมาตรการควบคุม การระบาดที่ไม่เข้มงวดเท่ากับปีที่ผ่านมาและเร่งออกมาตรการการคลังเพิ่มเติมได้เร็ว อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม โดยจะขยายตัวร้อยละ 3.0 และ 4.7 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ (1) ข้อสมมติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงตามการทยอยเปิดประเทศของไทยที่ล่าช้ากว่าคาด รวมถึงนโยบายจำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยวในต่างประเทศที่เข้มงวดโดยเฉพาะจีน และ (2) การใช้จ่ายภาครัฐในปี 2565 ที่ปรับลดลงมากขึ้นตามงบประมาณปี 2565 ที่ลดลงตามประมาณการรายได้รัฐบาล และการโอนเงินบางส่วนภายใต้ 
 
พ.ร.ก. กู้เงินฯ จากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อใช้ในแผนเยียวยาในปีนี้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ (1) การส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และ (2) แรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติมในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2564 คาดว่าจะเกินดุลเพียงเล็กน้อยโดยลดลงมากมาอยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จาก (1) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่อยู่ในระดับต่ำ (2) ราคาสินค้านำเข้าที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (3) ดุลทองคำที่ไทยนำเข้าสุทธิสูง
 
ในช่วงทิศทางราคาทองคำขาลง และ (4) ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าในดุลบริการที่แพงขึ้นจากการขาดแคลนตู้
คอนเทนเนอร์ ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับสูงขึ้นเป็น 25 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ
 
มองไปข้างหน้า ประมาณการเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากหลายปัจจัย ได้แก่ (1) การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่อาจล่าช้าจากข้อจำกัดในการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 อาทิ ความเพียงพอของวัคซีน ความกังวลของประชาชนในการฉีดวัคซีน และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส 
 
(2) แรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจน้อยกว่าคาด หากมีความล่าช้าในการอนุมัติโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ 
ที่เหลือ ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดลงในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 (3) ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจและแรงงานจะกลับมาฟื้นตัวช้าแม้การระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects) และ (4) การผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่อาจสูงขึ้นมากภายหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง
 
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 ปรับสูงขึ้นจากประมาณการเดิม และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ 
 
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.2 ตามราคาน้ำมันดิบ
ที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ โดยจะขยายตัวสูงชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 จากผลของฐานต่ำในปีก่อน 
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงเดิม ทั้งนี้ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
 
ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปราย
 
คณะกรรมการฯ อภิปรายเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย มาตรการที่ควรดำเนินการในระยะต่อไป รวมทั้งแนวทางการผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงิน โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
• คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยที่ปรับสูงขึ้นเร็วตาม
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมานั้นส่งผลกระทบจำกัดต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากผู้ออกหุ้นกู้ภาคเอกชนส่วนใหญ่ระดมทุนในระยะสั้นและยังสามารถระดมทุนได้ปกติ อีกทั้ง corporate credit spread ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยเริ่มทรงตัวและเคลื่อนไหวตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ น้อยลง
 
ในระยะหลัง แต่คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินและนัยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอย่างใกล้ชิด
 
• คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและมีความแตกต่างกันมากขึ้นระหว่างภาคเศรษฐกิจ (uneven recovery) ภาครัฐจึงควรออกแบบมาตรการให้ตรงจุดและเพียงพอ รวมทั้งเร่งดำเนินมาตรการเพื่อช่วยลด scarring effects ในระบบเศรษฐกิจ โดยควรเร่งแก้ปัญหาเรื่องฐานะทางการเงินของภาคเอกชนที่มีความเปราะบางมากขึ้น ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังอ่อนแออยู่ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป มาตรการการคลัง จึงควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อรักษาความ ต่อเนื่องของแรงกระตุ้นภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับภาคครัวเรือน มาตรการทางการเงินและสินเชื่อ ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ รวมถึงเร่งกระจายสภาพคล่องให้ตรงจุดเพื่อช่วยลดภาระหนี้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการเร่งดำเนินมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (asset warehousing) ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือที่ (1) สร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินส่งผ่านสภาพคล่องไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ตรงจุด และสอดคล้องกับปัญหาและศักยภาพของธุรกิจ (2) ลดภาระการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยชั่วคราวให้ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัว โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ในกรณีเลวร้ายที่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาด คณะกรรมการฯ เห็นว่าภาครัฐควรเตรียมพร้อมชุดมาตรการการเงินและการคลัง (policy package) เพิ่มเติมไว้รองรับความเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะหากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยในปี 2564 น้อยกว่าที่คาด 
 
• คณะกรรมการฯ เน้นย้ำถึงความจำเป็นของนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จะช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว โดยเห็นว่าศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มต่ำลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการระบาดของ COVID-19 ยังอาจซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิม เช่น ปัญหาสังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำของรายได้ให้เลวร้ายลง คณะกรรมการฯ จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จะช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะการปรับรูปแบบการทำธุรกิจและพัฒนาทักษะแรงงาน (upskill/reskill) ให้สอดคล้องกับบริบทหลัง COVID-19 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน และเพิ่มรายได้ประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนลดภาระหนี้สินได้เร็วยิ่งขึ้น
 
• คณะกรรมการฯ อภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายต่าง ๆ อย่างเหมาะสม (integrated policy) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นและการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่า (1) นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องและมาตรการการเงินการคลังที่ตรงจุดจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย (2) มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) และมาตรการกำกับดูแลรายสถาบันการเงิน (microprudential) จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน (low for long) เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง และ (3) ภาครัฐควรเร่งผลักดันและเร่งดำเนินนโยบายเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว 

การดำเนินนโยบายการเงิน
 
คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
 
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมบ้าง อย่างไรก็ตาม ฐานะทางการเงินที่เปราะบางของภาคเอกชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะ SMEs และภาคครัวเรือนจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงควรเน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับปัญหา โดยประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ใช่ระดับอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับต่ำ แต่โจทย์สำคัญคือการกระจายสภาพคล่องในระบบธนาคารที่อยู่ในระดับสูงไปสู่ธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ จึงควรใช้มาตรการการเงินและสินเชื่อซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ใน
 
การประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด 
 
คณะกรรมการฯ จะติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ แม้คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแรงกดดันค่าเงินบาทลดลงจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงมากในปี 2564  แต่คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ผลักดันนโยบายการปรับ FX ecosystem อย่างต่อเนื่องเพื่อปรับโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการส่งเสริมให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันของไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น จะช่วยสนับสนุนเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกและทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยไหลเข้าออกอย่างสมดุลมากขึ้น 
 
คณะกรรมการฯ เห็นว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยเห็นควรให้เร่งดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่ออกมาเพิ่มเติมเพื่อช่วยกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนเศรษฐกิจช่วงฟื้นฟูในอนาคต ทั้งนี้ นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง สถาบันการเงินควรเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง มาตรการการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งอนุมัติและเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังเหลือ นอกจากนี้ ภาครัฐควรร่วมกันผลักดันนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลัง COVID-19 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว
 
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยจะติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีน การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ความเปราะบางในตลาดแรงงาน รวมทั้งความต่อเนื่องและความเพียงพอของมาตรการภาครัฐ ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
 

LastUpdate 07/04/2564 10:47:26 โดย : Admin
17-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (11 เม.ย.67) ลบเล็กน้อย 2.43 จุด

2. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (11 เม.ย.67) พุ่งขึ้น 24.30 เหรียญ หลังดัชนี PPI ต่ำกว่าคาดหนุนเฟดลดดอกเบี้ยเร็วสุด ก.ค.67

3. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,365 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,410 เหรียญ

4. ทั่วไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด มีฝนฟ้าคะนอง 10%

5. ทองเปิดตลาด (12 เม.ย.67) พุ่งพรวด 700 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,650 บาท

6. ตลาดหุ้นปิด (11 เม.ย.67) ลบ 11.79 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,396.38 จุด

7. ประกาศ กปน.: 18 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง

8. ตลาดหุ้นไทยปิดภาคเช้า (11 เม.ย.67) ลบ 4.71 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,403.46 จุด

9. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,330 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,365 เหรียญ

10. ทองเปิดตลาด (11 เม.ย.) ปรับขึ้น 150 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,100 บาท

11. ตลาดหุ้นไทยเปิด (11 เม.ย.67) ลบ 2.52 จุดดัชนีอยู่ที่ 1,405.65 จุด

12. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.60-36.80 บาท/ดอลลาร์

13. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (10 เม.ย.67) ร่วง 422.16 จุด เหตุดัชนี CPI สูงเกินคาด วิตกเฟดตรึงดอกเบี้ยสูงต่อ

14. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (11 เม.ย.67) อ่อนค่าลงหนัก ที่ระดับ 36.76 บาทต่อดอลลาร์

15. ภาคเหนือยังคงมีพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง 30% ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกบางแห่ง / ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่ง ตอ. 20% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคกลาง 10%

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 17, 2024, 6:28 am