เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท. รายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมีนาคม 2564


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและการประเมินภาวะเศรษฐกิจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2564
 
ในการประชุมวันที่ 3 กุมภาพันธ์ และ 24 มีนาคม 2564 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ เนื่องจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า และมาตรการการคลังที่ออกมาได้เร็ว รวมถึงการส่งออกที่ฟื้นตัวดีตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจยังมีความแตกต่างกัน โดยมีความเสี่ยงสำคัญจากประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และครัวเรือนที่มีรายได้น้อย สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และอยู่ใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนและเผชิญกับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ เห็นควรให้รักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

คณะกรรมการฯ เห็นว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภาครัฐควรเตรียมมาตรการที่ต่อเนื่องและสอดคล้องกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงเตรียมมาตรการเพิ่มเติมไว้รองรับกรณีเลวร้าย นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้เร่งดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่ ธปท. กระทรวงการคลัง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดัน ทั้งมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้

การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงิน
 
1. เศรษฐกิจโลก
 
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ประกอบกับการส่งออกของเอเชียที่ฟื้นตัวดีเป็นสำคัญ ในระยะต่อไป เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการกระจายวัคซีนที่มีแนวโน้มเร่งตัวมากขึ้นในหลายประเทศ แรงสนับสนุนจากมาตรการการคลังที่ออกมาต่อเนื่อง และนโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลาย ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในปี 2564 และ 2565 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.5 และ 3.8 ตามลำดับ แต่ความเสี่ยงโดยรวมยังโน้มไปด้านต่ำ ความเสี่ยงในระยะสั้นปรับลดลงจากแนวนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่เอื้อต่อการค้าโลกมากขึ้น และการกระจายวัคซีนที่ทั่วถึงขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่อาจรุนแรงและยืดเยื้อ และเสถียรภาพระบบการเงินโลกที่เปราะบางมากขึ้น

ภาครัฐทั่วโลกดำเนินมาตรการการเงินการคลังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ด้านธนาคารกลางทั่วโลกยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำและการผ่อนคลายเชิงปริมาณ

2. ภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินไทย
 
ภาวะการเงินไทยโดยรวมยังผ่อนคลาย อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดการเงินอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นตามการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และอุปทานพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการก่อหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในช่วงที่ผ่านมาผลกระทบต่อภาวะการเงินไทยโดยรวมและต้นทุนการระดมทุนยังจำกัด รวมทั้งตลาดการเงินสามารถปรับตัวได้ตามกลไกตลาดและดำเนินงานได้เป็นปกติ ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปล่อยใหม่ (new loan rate: NLR) ปรับลดลงในทุกขนาดวงเงิน ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. และดัชนีค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากเงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นหลังการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ แม้แรงกดดันต่อค่าเงินบาทจะลดลงจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงมากในปี 2564 คณะกรรมการฯ ยังเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมถึงนัยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอย่างใกล้ชิด และพิจารณาความจำเป็นของมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม โดยสนับสนุนให้ผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

เสถียรภาพระบบการเงินไทยยังเปราะบางจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า จากฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอ่อนแอ ในระยะต่อไป การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้การฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจยิ่งแตกต่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว จึงต้องติดตามฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด

3. แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย
 
เศรษฐกิจไทยโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่ำลงจากการประเมินครั้งก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ในช่วงต้นปีและข้อสมมติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี มาตรการควบคุมการระบาดระลอกใหม่ที่ไม่เข้มงวดเท่าปีก่อนหน้า แรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติม และการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย สำหรับปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่ำลงจากการประเมินครั้งก่อนเล็กน้อย จากการปรับลดประมาณการรายจ่ายภาครัฐปีงบประมาณ 2565 อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะฟื้นตัวภายหลังการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงทั้งในไทยและต่างประเทศจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวสู่ระดับก่อนการระบาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 10.0 ในปี 2564 และร้อยละ 6.3 ในปี 2565 จากด้านราคาที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และจากด้านปริมาณที่ขยายตัวดีขึ้นมากตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพิ่มเติม ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอื่น ๆ

การส่งออกบริการยังคงหดตัวและมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 จะลดลงมาอยู่ที่ 3.0 ล้านคน และ 21.5 ล้านคนในปี 2565 เนื่องจากการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยที่ล่าช้ากว่าคาด นโยบายจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของนักท่องเที่ยวจีน ความล่าช้าในการฉีดวัคซีนของบางประเทศ และการกลายพันธุ์ของ COVID-19 ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางท่องเที่ยว

ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลลดลงมากในปี 2564 จากการนำเข้าที่ขยายตัวสูง โดยคาดว่าจะเกินดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2564 จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่อยู่ในระดับต่ำ และราคาสินค้านำเข้าปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงมากในปี 2564 ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยชั่วคราว ได้แก่ การนำเข้าทองคำเพิ่มขึ้นในช่วงทิศทางราคาทองคำขาลง และต้นทุนค่าขนส่งสินค้าที่แพงขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับสูงขึ้นเป็น 25 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

การบริโภคภาคเอกชนในระยะสั้นขยายตัวดีกว่าคาดและจะชะลอลงในระยะต่อไป การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ดีกว่าคาดจาก (1) การซื้อรถยนต์ที่มีกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงปลายปี และ (2) ผลดีจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติมหลังการระบาดระลอกใหม่ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของรายได้แรงงานยังไม่ทั่วถึง จึงคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในระยะข้างหน้าจะขยายตัวในอัตราไม่สูงนัก ตามฐานะทางการเงินของครัวเรือนที่ยังเปราะบางและตลาดแรงงานที่ยังอ่อนแอ

การลงทุนภาคเอกชนทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับการค้าระหว่างประเทศและการบริโภคภาคเอกชนที่ดีกว่าคาด ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในส่วนของโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (public-private partnership: PPP) โดยเฉพาะโครงการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) มีความชัดเจนมากขึ้น

เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่ากรณีฐาน จาก (1) การทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยอาจล่าช้าออกไป เนื่องจากข้อจำกัดในการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 (2) แรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจน้อยกว่าคาด หากการอนุมัติโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ ที่เหลือล่าช้า ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดลงในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 (3) ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจและแรงงานจะกลับมาฟื้นตัวได้ช้าแม้การระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects) และ (4) อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนอาจเพิ่มสูงขึ้นมากหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง

คณะกรรมการฯ วิเคราะห์ฉากทัศน์ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า (scenario analysis) ที่ขึ้นกับการกลับมาของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ โดยแบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณีฐาน กรณีเลวร้าย และกรณีเลวร้ายที่สุด โดยในปี 2564 ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจอยู่ในช่วง 1 แสนคนถึง 3 ล้านคน ส่งผลให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างหดตัวร้อยละ 1.7 ถึงขยายตัวร้อยละ 3.0 และในปี 2565 ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจอยู่ในช่วง 1 แสนคนถึง 21.5 ล้านคน ส่งผลให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างหดตัวร้อยละ 0.3 ถึงขยายตัวร้อยละ 4.7

ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ในปี 2564 และ 1.0 ในปี 2565 โดยปรับสูงขึ้นในปีนี้จากปัจจัยด้านอุปทาน ตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับเพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยที่ 60 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวสูงชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 จากผลของฐานต่ำในปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 30 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ขณะที่ประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงเดิมที่ร้อยละ 0.3 ในปี 2564 และร้อยละ 0.4 ในปี 2565 ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับสู่ขอบล่างของกรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 เม.ย. 2564 เวลา : 17:59:01
25-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (25 เม.ย.67) บวก 3.17 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.27 จุด

2. ประกาศ กปน.: 29 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนบ้านบางไผ่-บ้านหนองเพรางาย

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (25 เม.ย.67) บวก 1.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.82 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำยังคงทรงตัวในกรอบเช่นเดิมระหว่าง 2,290-2,330 เหรียญ

5. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ลบ 42.77 จุด บอนด์ยีลด์พุ่งฉุดตลาด บดบังผลประกอบการ บจ.แกร่ง

6. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ร่วง 3.70 เหรียญ นักลงทุนคลายกังวลความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

7. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่งตต. 20% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคอีสาน-ภาคใต้ ฝั่ง ตอ. 10%

8. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 37.00-37.25 บาท/ดอลลาร์

9. ทองเปิดตลาด (25 เม.ย. 67) ปรับขึ้น 200 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,300 บาท

10. ค่าเงินบาทเปิดวันนึ้ (25 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 37.08 บาทต่อดอลลาร์

11. ตลาดหุ้นไทยเปิด (25 เม.ย.67) ลบ 2.13 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,358.97 จุด

12. ตลาดหุ้นปิด (24 เม.ย.67) บวก 3.64 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.10 จุด

13. ประกาศ กปน.: 27 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (24 เม.ย.67) บวก 3.44 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,360.90 จุด

15. MTS Gold คาดว่าจะมีกรอบแนวรับที่ 2,260 เหรียญ และแนวต้านที่ 2,335 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 9:07 pm