เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรคาดผลประกอบการแบงก์ไทย Q1/64 แม้กำไรขยับขึ้น แต่โควิดรอบใหม่ทำให้ความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น


คาดผลประกอบการแบงก์ไทยไตรมาส 1/2564  แม้กำไรขยับขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่โควิดรอบใหม่ทำให้ความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น

ประเด็นสำคัญ
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบธ.พ. ไทย) อาจขยับขึ้นในไตรมาส 1/2564 โดยแม้รายได้จากธุรกิจหลักของธ.พ. ไทยจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมา เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ส่วนของไทยยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19  แต่ระดับกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2564 มีโอกาสขยับขึ้น 75% QoQ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการลดลงของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้เสียที่ชะลอลง (แต่ยังเป็นระดับสำรองฯ ที่มากกว่าระดับปกติ) อย่างไรก็ดี ประเมินว่า การประคองทิศทางผลประกอบการระบบธ.พ. ไทยในระยะที่เหลือของปีอาจมีความท้าทายมากขึ้น เพราะคงต้องยอมรับว่าโควิด 19 ระลอกสาม มีผลกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รายได้หลักของธุรกิจธนาคาร และประเด็นคุณภาพหนี้ 
 
• แม้กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบ ธ.พ.ไทย) ในไตรมาส 1/2564 อาจขยับขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากผลของค่าใช้จ่ายที่ลดลง แต่รายได้จากธุรกิจหลักไม่ฟื้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 และเศรษฐกิจยังไม่ปกติ  
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กำไรสุทธิของระบบธ.พ. ไทยอาจขยับขึ้นมาที่ 2.57 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ 1/2564 เพิ่มขึ้นประมาณ 75.0% QoQ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 ที่มีกำไรสุทธิที่ 1.47 หมื่นล้านบาท โดยกำไรสุทธิที่ขยับขึ้นในไตรมา 1/2564 หลักๆ เป็นผลมาจากการปรับตัวลงของค่าใช้จ่ายใน 2 ส่วน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่ชะลอลง หลังจากเร่งตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้าตามปัจจัยเชิงฤดูกาล และรายจ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (การตั้งสำรองฯ) ซึ่งแม้จะอยู่สูงกว่าในช่วงปกติ แต่ก็น่าจะลดลงจากในช่วงไตรมาสที่ 4/2563
 
อย่างไรก็ดี รายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/2564 ทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย อาจขยับลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 รอบใหม่ที่ทำให้แรงส่งจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขาดความต่อเนื่อง โดยรายได้ดอกเบี้ยในภาพรวมชะลอลงสอดคล้องกับสถานการณ์การปล่อยสินเชื่อที่เป็นไปอย่างระมัดระวัง ประกอบกับมีการทยอยชำระคืนหนี้ตามปัจจัยฤดูกาล ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลทำให้สินเชื่อของระบบธ.พ. ไทยชะลอการเติบโตลงมาอยู่ในกรอบ 4.0-4.5% YoY ในไตรมาส 1/2564 (จาก 5.8% ในไตรมาส 4/2563) ขณะที่ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงก่อนหน้านี้ กดดันให้ NIM  ไตรมาส 1/2564 ชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 2.53-2.57% (จาก 2.59% ในไตรมาส 4/2563) 
 
นอกจากนี้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยยังคงหดตัวลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ เพราะแม้จะไม่มีการล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้างในไตรมาสแรก แต่บรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศที่ซบเซาก็มีผลกดดันรายได้ค่าธรรมเนียมหลายประเภท อาทิ ค่าฟีบัตรเครดิต บริการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน รวมถึงค่าธรรมเนียมจัดการ และค่านายหน้า ขณะที่การปรับตัวขึ้นอย่างมากของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยก็เพิ่มแรงกดดันต่อการตีมูลค่าเงินลงทุนในตราสารหนี้ผ่านงบกำไรขาดทุนของธนาคารพาณิชย์ 
 
• ประเด็นคุณภาพหนี้ในพอร์ตลูกหนี้ของธ.พ. ถูกกระทบอีกครั้งจากโควิด 19 รอบใหม่ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์ (ภาพรวมของธ.พ.ไทย+สาขาธ.พ. ต่างประเทศ) อาจขยับขึ้นมาที่ 3.20-3.35% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/2564 จากระดับ 3.12% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 3/2564 โดยกลุ่มลูกหนี้ที่มีสัญญาณอ่อนแอ ได้แก่ ลูกหนี้ SMEs ลูกหนี้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว และลูกหนี้รายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่ล้วนมีสัดส่วนสินเชื่อ Stage 2 (สินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต) เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว

สถานการณ์หนี้ด้อยคุณภาพจะยังคงเป็นประเด็นที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และส่งผลทำให้สัดส่วนการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) ยังคงทรงตัวอยู่ในกรอบสูงที่ประมาณ 1.45-1.50% ในไตรมาส 1/2564 ชะลอลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 1.54% ไตรมาส 4/2563 เนื่องจากคาดว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจะยังคงตั้งสำรองฯ ในระดับสูงกว่าสถานการณ์ปกติ เนื่องจากสัญญาณโควิด 19 ในประเทศปะทุขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ต้นปี 2564 ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความไม่แน่นอนของแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังส่งผลซ้ำเติมความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน 
 

ประมาณการผลประกอบการไตรมาส 1/2564 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและกระจายเป็นวงกว้างของโควิด 19 ระลอกสามจะเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันและทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่อาจต้องดำเนินการต่อเนื่องตลอดช่วงที่เหลือของปี 2564  

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สินเชื่อระบบธ.พ.ไทย อาจมีทิศทางการเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการปล่อยสินเชื่อใหม่ผ่านมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟูฯ) แต่ผลต่อรายได้ดอกเบี้ยอาจจะไม่มากนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อฟื้นฟูในระยะแรกยังถูกกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 2.0% นอกจากนี้สถาบันการเงินโดยภาพรวมจะยังคงพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้อย่างระมัดระวังสำหรับสินเชื่อปล่อยใหม่ในส่วนอื่นๆ

สำหรับประเด็นด้านคุณภาพสินเชื่อนั้น แม้มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้อาจช่วยบรรเทาแรงกดดันที่มีต่อลูกหนี้ธุรกิจในบางกลุ่ม แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงคาดว่า สินเชื่อด้อยคุณภาพของระบบธ.พ. จะยังคงมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ และจะมีผลต่อแนวทางการตั้งสำรองฯ ของระบบธนาคารพาณิชย์ เพราะเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหยุดชะงักลงอีกครั้งท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เสมือนกับการล็อกดาวน์บางส่วนเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19

• สุดท้ายนี้ จังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เลื่อนเวลาออกไป ย่อมเป็นปัจจัยที่เพิ่มความท้าทาย และ/หรือซ้ำเติมปัญหาการขาดสภาพคล่องของหลายๆ ธุรกิจ ซึ่งทำให้ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่กฎหมายผ่านแล้ว และคงจะทยอยมีความชัดเจนของความคืบหน้าในการดำเนินโครงการและการกระจายสภาพคล่องมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ประสิทธิผลของมาตรการควบคุมสกัดการแพร่ระบาดของโควิด 19 จะเป็นตัวแปรสำคัญที่บ่งชี้ถึงความเพียงพอของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยในกรณีที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันควบคุมการระบาดได้ดีและภาครัฐเดินหน้าเยียวยาเศรษฐกิจตามแผนที่วางไว้ คาดว่า มาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่มีอยู่ น่าจะช่วยประคองสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการไปได้ระดับหนึ่ง เพียงแต่อาจต้องขยายเวลาช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยให้ครอบคลุมช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า สถานการณ์ในระยะข้างหน้ายังคงมีความไม่แน่นอน (ทั้งในเรื่องการสกัดการระบาดและความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่) และอาจทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงความจำเป็นที่ทางการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกลับมาทบทวนความเพียงพอ-เหมาะสมของมาตรการทางด้านการเงินและมาตรการอื่นๆ ที่มีอยู่ และอาจต้องปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการ หรือเตรียมกลไก-มาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติมให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของวิกฤตครั้งนี้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 เม.ย. 2564 เวลา : 17:27:42
26-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (25 เม.ย.67) บวก 3.17 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.27 จุด

2. ประกาศ กปน.: 29 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนบ้านบางไผ่-บ้านหนองเพรางาย

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (25 เม.ย.67) บวก 1.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.82 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำยังคงทรงตัวในกรอบเช่นเดิมระหว่าง 2,290-2,330 เหรียญ

5. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ลบ 42.77 จุด บอนด์ยีลด์พุ่งฉุดตลาด บดบังผลประกอบการ บจ.แกร่ง

6. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ร่วง 3.70 เหรียญ นักลงทุนคลายกังวลความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

7. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่งตต. 20% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคอีสาน-ภาคใต้ ฝั่ง ตอ. 10%

8. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 37.00-37.25 บาท/ดอลลาร์

9. ทองเปิดตลาด (25 เม.ย. 67) ปรับขึ้น 200 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,300 บาท

10. ค่าเงินบาทเปิดวันนึ้ (25 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 37.08 บาทต่อดอลลาร์

11. ตลาดหุ้นไทยเปิด (25 เม.ย.67) ลบ 2.13 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,358.97 จุด

12. ตลาดหุ้นปิด (24 เม.ย.67) บวก 3.64 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.10 จุด

13. ประกาศ กปน.: 27 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (24 เม.ย.67) บวก 3.44 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,360.90 จุด

15. MTS Gold คาดว่าจะมีกรอบแนวรับที่ 2,260 เหรียญ และแนวต้านที่ 2,335 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 7:21 am