เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ttb analytics วิเคราะห์ หนี้ครัวเรือนไทย จุดเปราะบางที่อาจปะทุของเศรษฐกิจไทย


หนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ในภาวะเปราะบาง ด้วยสัดส่วนหนี้เพื่อการบริโภคที่สูงขึ้นจึงเป็นปัญหากระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทางออกคือการปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงจุดและเน้นการรวบหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว


สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันโดยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ
 
นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 หนี้ครัวเรือนของไทยมีการปรับตัวสูงมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 80% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2562 เป็น 90.5% ของจีดีพี ณ ไตรมาส 1/2564 และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศระลอกสามที่ลุกลามยืดเยื้อมาจนถึงครึ่งหลังของปี 2564 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ  ttb analytics คาดการณ์ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93.0% ณ สิ้นปี 2564 

โดยปริมาณหนี้ครัวเรือนของไทยต่อจีดีพี ที่เร่งขึ้นเร็วในช่วงวิกฤตนี้เกิดจาก 1. ความจำเป็นในการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากขาดหรือมีสภาพคล่องในครัวเรือนไม่เพียงพอกับรายจ่าย หลังจากที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติในช่วงล็อกดาวน์ การถูกปรับลดเงินเดือนบางส่วนลง รวมถึงการถูกเลิกจ้าง 2. รายได้ที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นเร็ว สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนไทย ณ ต้นปี 2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 จากระยะเดียวกันกับปี 2563 ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซา

ทั้งนี้ สังเกตได้ว่า ในหลายประเทศก็ประสบปัญหาการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ครัวเรือนเช่นเดียวกัน โดยเกาหลีใต้มีหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 93.9% ของจีดีพี เป็น 103.8% ณ ต้นปี 2564 และมาเลเซียที่เพิ่มจาก 82.7% เป็น 93.2% ในปัจจุบัน โดยไทยมีปริมาณหนี้ครัวเรือนอยู่อันดับที่ 17 ของโลก ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน คือ เกาหลีใต้และมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 9  และ 14 ตามลำดับ แต่สูงกว่าหนี้ครัวเรือนของสิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับที่ 26 ของโลก  จึงเห็นได้ว่านอกจากหนี้ครัวเรือนของไทยและประเทศเพื่อนบ้านจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังถือว่ามีปริมาณภาระหนี้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย ดังนั้น การบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งจำเป็น
 

ประเมินความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนไทยเทียบต่างประเทศ
 
ด้านประเภทของหนี้ครัวเรือนไทยประกอบไปด้วย สัดส่วนหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 47% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด อาทิ หนี้บ้านและรถยนต์ และสัดส่วนหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 35% อาทิ หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป รวมถึงหนี้เพื่อการศึกษา และส่วนที่เหลืออีก 18% เป็นหนี้รายย่อยเพื่อธุรกิจครัวเรือน
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงในระดับโลกใกล้เคียงกันกับไทยเพื่อให้เห็นภาพรวม โดยคำนวณเฉพาะหนี้บ้านต่อหนี้ครัวเรือนทั้งหมด (ไม่รวมหนี้ยานพาหนะ เพราะมีข้อจำกัดของการเข้าถึงข้อมูลสินเชื่อรถยนต์ในบางประเทศ) พบว่า ในต่างประเทศครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นประเภทหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในระดับสูงกว่าไทย อาทิ เกาหลีมีสัดส่วนหนี้บ้านสูงถึง 56% ขณะที่สิงคโปร์และฝรั่งเศส นอกจากจะมีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีต่ำกว่าไทยแล้ว ยังไม่มีสัดส่วนหนี้อสังหาฯ สูงกว่าด้วย ยกเว้นมาเลเซียที่มีสัดส่วนหนี้บ้านใกล้เคียงกับไทย สะท้อนให้เห็นว่า หนี้ครัวเรือนของไทยมีความเสี่ยงต่อความเปราะบางทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศอื่นที่มีอันดับหนี้ในระดับต้นๆ ของโลกใกล้เคียงกัน
 

คุณภาพหนี้ครัวเรือนที่แท้จริง และประสิทธิภาพการช่วยเหลือแก้ไขหนี้
 
ในส่วนของคุณภาพหนี้ครัวเรือนนั้น เป็นผลโดยตรงมาจากสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ที่รุนแรงและลากยาวนับแต่ปลายปี 2563 ส่งผลซ้ำเติมปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่แล้วในระดับสูง โดยเมื่อดูข้อมูลหนี้รายย่อยที่ได้ขอเข้าโครงการรับการช่วยเหลือ (รวม SFI) ณ เดือนมิถุนายน 2564  พบว่ามีปริมาณสูงถึง 11% ของจีดีพี ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับเครื่องชี้วัดสำคัญ คือ หนี้ stage 3 หรือเอ็นพีเอล ที่มีอยู่ไม่ถึง 1% ของจีดีพี และหนี้ใน Stage 2 หรือสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต ที่มีอยู่เพียง 2.2% ของจีดีพี สะท้อนให้เห็นว่า คุณภาพหนี้ครัวเรือนของไทยในความเป็นจริงแย่ลงมากกว่าที่สามารถสะท้อนได้จากเครื่องชี้วัดหลักดังเช่น เอ็นพีเอล
 
เมื่อพิจารณาเป็นประเภทหนี้ที่มาขอรับความช่วยเหลือล่าสุด สำหรับลูกหนี้ของกิจการธนาคารพาณิชย์ กิจการไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-bank) และธนาคารเฉพาะกิจ (SFI) ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 พบว่า อันดับแรกเป็นหนี้ที่อยู่อาศัยเป็นหลัก (ยอดขอความช่วยเหลือรวมอยู่สูงถึง 4.5% ของจีดีพี เทียบกับยอดเอ็นพีเอลที่ 0.6% ของจีดีพี) รองลงมาเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล (ยอดขอความช่วยเหลือรวม 5.3% เทียบกับยอดเอ็นพีเอล 0.2%) และอันดับสามเป็นหนี้รถยนต์ (มูลค่าขอความช่วยเหลือ 1.1% เทียบกับยอดเอ็นพีเอลที่ 0.1%) โดยกลุ่มลูกหนี้ที่มาขอความช่วยเหลือมักเป็นลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน (Pre-emptive) อย่างทันท่วงที จะส่งผลให้เกิดหนี้เสียเป็นวงกว้างและกระทบต่อเสถียรภาพการเงินและระบบสถาบันการเงินโดยรวมของไทยได้ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นหนี้ประเภทไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured loan) และมีสัดส่วนค่อนข้างใหญ่ในโครงสร้างสินเชื่อครัวเรือนของไทย
 

การวางแผนแก้ไขหนี้ครัวเรือนจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเน้นเพื่อช่วยผ่อนคลายภาวะตึงตัวทางการเงินของลูกหนี้ในระยะสั้น และเพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การชำระหนี้ทั้งหมดได้ หลังการแพร่ระบาดยุติลงในระยะยาว โดยสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย (Tailor-made) และไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจเลี่ยงชำระหนี้อย่างไม่เหมาะสม (Moral hazard) เมื่อเปรียบเทียบแนวทางสำคัญในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. และประเทศอื่นในภูมิภาค พบว่ามีความสอดคล้องกันในหลายด้าน ได้แก่
 
1. การเติมสภาพคล่องให้ลูกหนี้รายย่อยเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เช่น ธนาคารกลางเกาหลีได้ขยายกรอบวงเงินช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีและเจ้าของธุรกิจส่วนบุคคลรายย่อย ส่วน ธปท. ได้ขยายเพดานวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการผ่อนชำระ 
 
2. การลดภาระค่าผ่อนต่องวดลง ตามการเจรจาร้องขอของลูกหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย (Tailor-made) อาทิ มาเลเซียที่ลดค่างวดตามสถานะการจ้างงานและรายได้ สิงคโปร์ที่ลดค่างวดสำหรับหนี้บ้านซึ่งมีสัดส่วนสูงในหนี้ครัวเรือน รวมถึงการช่วยเหลือเฉพาะหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และ ธปท. ให้ส่วนลดดอกเบี้ยตามยอดชำระค่างวดใหม่ที่เลือก เพื่อเป็นแรงจูงใจแก้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการแก้หนี้ ให้พยายามชำระหนี้ตามความสามารถ ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดี
 
3. การเร่งปรับโครงสร้างหนี้  ทั้งการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้จากระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว ก่อนที่จะเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ได้ในอนาคต ซึ่งเป็นแนวทางทั่วไปที่สอดคล้องกันในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย
 
4. การรวบหนี้ โดยเฉพาะการนำหนี้ไม่มีหลักประกันมารวมกับหนี้มีหลักประกัน และขยายระยะผ่อนชำระ จะช่วยลดภาระดอกเบี้ย เพื่อรองรับการปรับโครงแก้ไขหนี้ระยะยาวอย่างยั่งยืน 
 
สุดท้ายนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยในสถานการณ์โควิด นอกจากจะอาศัย ธปท. และภาคธนาคารให้การช่วยเหลือผ่านการลดภาระและปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงต้องดำเนินการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ  ปัญหาเศรษฐกิจที่จะยังคงซบเซาไปอีก 2 ปีข้างหน้า และการให้ความรู้ทางการเงินแก่ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะการทำอย่างไรที่จะให้การก่อหนี้กลับมาเป็นการสร้างประโยชน์ และสร้างโอกาสในการหารายได้ซึ่งจะช่วยปลดภาระหนี้ได้ในระยะยาว
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ก.ย. 2564 เวลา : 10:26:49
25-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำยังคงทรงตัวในกรอบเช่นเดิมระหว่าง 2,290-2,330 เหรียญ

2. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ลบ 42.77 จุด บอนด์ยีลด์พุ่งฉุดตลาด บดบังผลประกอบการ บจ.แกร่ง

3. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ร่วง 3.70 เหรียญ นักลงทุนคลายกังวลความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

4. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่งตต. 20% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคอีสาน-ภาคใต้ ฝั่ง ตอ. 10%

5. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 37.00-37.25 บาท/ดอลลาร์

6. ทองเปิดตลาด (25 เม.ย. 67) ปรับขึ้น 200 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,300 บาท

7. ค่าเงินบาทเปิดวันนึ้ (25 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 37.08 บาทต่อดอลลาร์

8. ตลาดหุ้นไทยเปิด (25 เม.ย.67) ลบ 2.13 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,358.97 จุด

9. ตลาดหุ้นปิด (24 เม.ย.67) บวก 3.64 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.10 จุด

10. ประกาศ กปน.: 27 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง

11. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (24 เม.ย.67) บวก 3.44 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,360.90 จุด

12. MTS Gold คาดว่าจะมีกรอบแนวรับที่ 2,260 เหรียญ และแนวต้านที่ 2,335 เหรียญ

13. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (23 เม.ย.67) ร่วง 4.30 เหรียญ คลายความกังวลตะวันออกกลาง-จับตาเงินเฟ้อและGDPสหรัฐ

14. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (23 เม.ย.67) พุ่งขึ้น 263.71 จุด ขานรับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนแข็งแกร่งเกินคาด

15. ทั่วไทยมีฝนฟ้าคะนอง ภาคเหนือ 30% ภาคอีสาน-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่ง ตต. 20% ภาคใต้ ฝั่ง ตอ.10% กรุงเทพปริมณฑล ฝนเล็กน้อยบางแห่ง

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:59 pm